วันจันทร์ที่ 15 ตุลาคม พ.ศ. 2550

นาฏศิลป์ไทย

นาฏศิลป์ หมายถึง ศิลปะการฟ้อนรำ หรือความรู้แบบแผนของการฟ้อนรำ เป็นสิ่งที่มนุษย์ประดิษฐ์ขึ้นด้วยความประณีตงดงาม ให้ความบันเทิง อันโน้มน้าวอารมณ์และความรู้สึกของผู้ชมให้คล้อยตาม ศิลปะประเภทนี้ต้องอาศัยการบรรเลงดนตรี และการขับร้องเข้าร่วมด้วย เพื่อส่งเสริมให้เกิดคุณค่ายิ่งขึ้น หรือเรียกว่า ศิลปะของการร้องรำทำเพลง การศึกษานาฏศิลป์ เป็นการศึกษาวัฒนธรรมแขนงหนึ่ง นาฏศิลป์เป็นส่วนหนึ่งของศิลปะสาขาวิจิตรศิลป์ อันประกอบด้วย จิตรกรรม สถาปัตยกรรม วรรณคดี ดนตรี และนาฏศิลป์ นาฏศิลป์ นอกจากจะแสดงความเป็นอารยะของประเทศแล้ว ยังเป็นเสมือนแหล่งรวมศิลปะและการแสดงหลายรูปแบบเข้าด้วยกัน โดยมีมนุษย์เป็นศูนย์กลาง ในการที่จะสร้างสรรค์ อนุรักษ์ และถ่ายทอดสืบต่อไป
ที่มาของนาฏศิลป์ไทย
นาฏศิลป์ไทยมีกำเนิดมาจาก
๑. การเลียนแบบธรรมชาติ แบ่งเป็น ๓ ขึ้น คือ ขั้นต้น เกิดแต่วิสัยสัตว์ เมื่อเวทนาเสวยอารมณ์ ไม่ว่าจะเป็นสุขเวทนาหรือทุกขเวทนาก็ตาม ถ้าอารมณ์แรงกล้าไม่กลั้นไว้ได้ ก็แสดงออกมาให้เห็นปรากฏ เช่น เด็กทารกเมื่อพอใจ ก็หัวเราะตบมือ กระโดดโลดเต้น เมื่อไม่พอใจก็ร้องไห้ ดิ้นรน ขั้นต่อมา เมื่อคนรู้ความหมายของกิริยาท่าทางมากขึ้น ก็ใช้กิริยาเหล่านั้นเป็นภาษาสื่อความหมาย ให้ผู้อื่นรู้ความรู้สึกและความประสงค์ เช่น ต้องการแสดงความเสน่หาก็ยิ้มแย้ม กรุ้มกริ่มชม้อยชม้ายชายตา หรือโกรธเคืองก็ทำหน้าตาถมึงทึง กระทืบ กระแทก ต่อมาอีกขั้นหนึ่ง มีผู้ฉลาดเลือกเอากิริยาท่าทาง ซึ่งแสดงอารมณ์ต่างๆ นั้นมาเรียบเรียงสอดคล้อง ติดต่อกันเป็นขบวนฟ้อนรำให้เห็นงาม จนเป็นที่ต้องตาติดใจคน
๒. การเซ่นสรวงบูชา มนุษย์แต่โบราณมามีความเชื่อถือในสิ่งศักดิ์สิทธิ์ จึงมีการบูชา เซ่นสรวง เพื่อขอให้สิ่งศักดิ์สิทธิ์ประทานพรให้ตนสมปรารถนา หรือขอให้ขจัดปัดเป่าสิ่งที่ตนไม่ปรารถนาให้สิ้นไป การบูชาเซ่นสรวง มักถวายสิ่งที่ตนเห็นว่าดีหรือที่ตนพอใจ เช่น ข้าวปลาอาหาร ขนมหวาน ผลไม้ ดอกไม้ จนถึง การขับร้อง ฟ้อนรำ เพื่อให้สิ่งที่ตนเคารพบูชานั้นพอใจ ต่อมามีการฟ้อนรำบำเรอกษัตริย์ด้วย ถือว่าเป็นสมมุติเทพที่ช่วยบำบัดทุกข์บำรุงสุขให้ มีการฟ้อนรำรับขวัญขุนศึกนักรบผู้กล้าหาญ ที่มีชัยในการสงครามปราบข้าศึกศัตรู ต่อมาการฟ้อนรำก็คลายความศักดิ์สิทธิ์ลงมา กลายเป็นการฟ้อนรำเพื่อความบันเทิงของคนทั่วไป
๓. การรับอารยธรรมของอินเดีย เมื่อไทยมาอยู่ในสุวรรณภูมิใหม่ๆ นั้น มีชนชาติมอญ และชาติขอมเจริญรุ่งเรืองอยู่ก่อนแล้ว ชาติทั้งสองนั้นได้รับอารยธรรมของอินเดียไว้มากมายเป็นเวลานาน เมื่อไทยมาอยู่ในระหว่างชนชาติทั้งสองนี้ ก็มีการติดต่อกันอย่างใกล้ชิด ไทยจึงพลอยได้รับอารยธรรมอินเดียไว้หลายด้าน เช่น ภาษา ประเพณี ตลอดจนศิลปการละคร ได้แก่ ระบำ ละครและโขน

พิธีไหว้ครูนาฎศิลป์
การไหว้ครูนับเป็นวัฒนธรรมไทยแบบหนึ่ง เป็นขนบธรรมเนียมอันดีงามในส่วนที่เกี่ยวกับกิริยามายาท สัมมาคารวะ และมีส่วนที่จะโน้มน้าวจิตใจมนุษย์ให้รักษาคุณความดี รักษาวิทยาการสืบเนื่องไปด้วยดี ทั้งยังจูงใจให้เป็นผู้มีนิสัยอ่อนโยนไม่แข็งกระด้าง การไหว้ครู คือ การแสดงถึงความเคารพกตเวทีแด่ท่านบูรพาจารย์และครูบาอาจารย์ ผู้ซึ่งได้ประสิทธิ์ประสาทวิชาให้ ศิษย์ในฐานะผู้สืบทอดมรดกทางวิชาการ จึงพร้อมใจกันปวารณาตนรับการถ่ายทอดวิชาความรู้ด้วยความวิริยะอุตสาหะมานะอดทน เพื่อจะได้เป็นความรู้ติดตัวนำไปประกอบอาชีพ เพื่อสร้างความเจริญรุ่งเรืองให้แก่ตนเองในภายภาคหน้า

ประวัติการไหว้ครู

การประกอบพิธีไหว้ครูนั้นได้มีการกำหนดระเบียบแบบแผน เพื่อเป็นแนวทางในการปฏิบัติโดยการบอกเล่าต่อๆ กันมาเป็นมุขปาฐะ ตำราพิธีไหว้ครูและครอบโขน-ละครของไทยมีอยู่ ๒ ฉบับ คือ สมุดไทยมีจำนวน ๓ เล่ม แต่คงเหลือเพียงเล่ม ๒ เล่มเดียว ส่วนเล่ม ๑ และ เล่ม ๓ หายไป มีนักปราชญ์ได้รวบรวมชำระทูลเกล้าฯ ถวายพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ตราเป็นพิธีไหว้ครูครอบโขน-ละครฉบับหลวง ในรัชกาลที่ ๔ ส่วนอีกฉบับหนึ่งคือ สมุดไทย เล่ม ๒ ซึ่งหลงเหลือมาจากฉบับแรก แล้วตีพิมพ์ใช้เป็นแบบฉบับของการทำพิธีไว้ครูและครอบโขน-ละครในรัชการลที่ ๖ ในสมัยรัชการลที่ ๔ พิธีไหว้ครูละครหลวงได้เริ่มเมื่อวันพฤหัสบดี ขึ้น ๑ ค่ำ เดือน ๖ พ.ศ.๒๓๙๗ ส่วนการไหว้ครูนอกพระราชวังนั้นเริ่มมีมานานแล้ว เพราะได้ปฏิบัติกันเป็นประเพณีติดต่อกัน เช่น การฝึกหัดละครโนห์ราชาตรี เมื่อหัดรำเพลงครูได้แล้ว ครูจึงสอนให้ท่องบท เพราะละครโนห์ราชาตรียังใช้ร้องกลอนสด (เหมือนอย่างเล่นเพลงลิเก) ไม่มีหนังสือบทอย่างละครในกรุงเทพฯ แล้วสอนให้ร้องรำทำบทไปจนพอทำได้ ผู้ที่เป็นครูหัดจึงพาไปให้ครูครอบเรียกว่า "เข้าครู" พิธีไหว้ครูนั้นมีมาแต่โบราณ และมีอยู่ในแทบทุกสาขาอาชีพของคนไทย โดยเฉพาะในวงการศิลปินแล้วการไหว้ครูเป็นสิ่งสำคัญที่ขาดไม่ได้ นอกจากนี้ ยังเกี่ยวข้องกับลัทธิธรรมเนียมของการแสดงโขน-ละคร เพราะลักษณะพิเศษของโขน-ละครไทยนั้น นอกจากจะเป็นนาฏศิลป์และว่าเป็นลัทธิอีกอย่างหนึ่ง กล่าวคือ เป็นลัทธิมีพิธีกรรมของตนเอง และโดยเหตุนี้ นาฏศิลป์ไทยมีความผูกพันใกล้ชิดกับศาสนาฮินดูตั้งแต่ในระยะแรกเริ่ม ลัทธิธรรมเนียมของโขน-ละครไทยที่เกิดขึ้นต่อมาจึงหนักไปในทางไสยศาสตร์หรือศาสนาฮินดู เทพเจ้าอันเป็นที่นับถือในลัทธิโขน-ละครนี้ คือ พระเป็นเจ้าของศาสนาฮินดู ได้แก่ พระอิศวร พระนารายณ์ พระพรหม และพระพิฆเนศ นอกจากนั้นก็มีเทพเจ้าอื่นๆ อีกบางองค์ เช่น พระปรคนธรรพ ผู้ซึ่งถือกันว่าเป็นใหญ่ในทางดนตรี รองลงมาได้แก่ ครูปัธยาย ซึ่งมีวัตถุที่เคารพแสดงออกด้วยหัวโขน ได้แก่ พระภรตฤษี หัวโขนยักษ์ หัวโขนพระราม พระลักษมณ์ เทริดโนห์รา และรัดเกล้าอันเป็นศิราภรณ์ของนางกษัตริย์ ในเรื่องละครหัวโขนอื่นๆ ที่ใช้ในการแสดงนั้น ถือว่าเป็นวัตถุที่เคารพทั้งสิ้น จะจับต้องหรือตั้งไว้ที่ใดก็ต้องกระทำด้วยความเคารพ ประเพณีโบราณ ได้กำหนดหลักเกณฑ์ว่า ผู้ที่จะเป็นประธานประกอบพิธีไหว้ครูและพิธีครอบโขนละคร ตลอดจนประสิทธิ์ประสาทให้ผู้หนึ่งผู้ใดเป็นประธานพิธีไหว้ครูสืบไป จะต้องเป็นผู้ได้รับครอบโดยถูกต้องตามขั้นตอน เช่น ได้รับมอบตำราเครื่องโรง (อาวุธต่างๆ) จากครูซึ่งมีคุณสมบัติเป็นครู ผู้ที่ได้รับครอบสืบทอดมาก่อนแล้ว หรือได้รับพระราชทานครอบจากพระมหากษัตริย์ เพราะราชประเพณีไทยแต่โบราณถือว่า พระมหากษัตริย์เป็นสมมติเทพ ทรงพระบารมีเหนือเทพเจ้าผู้เป็นครูแห่งศิลปะทั้งหลาย ฉะนั้น การที่ทรงกระทำกิจกรรมที่เกี่ยวกับศิลปะไม่ว่าจะเป็นพิธีไหว้ครู หรือพระราชทานครอบ หรือทรงประสิทธิ์ประสาทให้ประกอบกิจใดๆ ย่อมกระทำได้ และผู้ที่ได้รับพระราชทานครอบก็จะสามารถประกอบพิธีครอบผู้อื่นต่อไปได้ คุณสมบัติของครูผู้ที่รับการคัดเลือก ให้ได้รับครอบให้เป็นประธานประกอบพิธีไหว้ครูและครอบนั้น ต้องเป็นบุรุษที่แสดงเป็นตัวพระ เพราะถือว่า ผู้แสดงเป็นตัวพระเท่ากับเทวดา ต้องมีอายุไม่ต่ำกว่า ๓๐ ปี เคยอุปสมบทมาแล้ว มีความประพฤติดี อยู่ในศีลธรรม มีความรู้ทางนาฏศิลป์ชั้นสูง มีความเชี่ยวชาญในการแสดง และมีศิษย์ที่ตนเองฝึกสอนจำนวนพอสมควร
พิธีครอบของกรมศิลปากร ครูผู้กระทำพิธีครอบได้สืบทอดมาเป็นระยะๆ ตั้งแต่พระยานัฏกานุรักษ์ (ทองดี สุวรรณภารต) หลวงวิลาศวงงาม (หร่ำ อินทรนัฏ) และนายอาคม สายาคม และเมื่อ พ.ศ. ๒๕๒๕ หลังจากที่นายอาคม สายาคม ถึงแก่มรณกรรมแล้ว มิได้ครอบถ่ายทอดให้แก่ผู้ใด จึงหมดผู้ที่จะกระทำพิธีต่อไป พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานประกอบพระราชพิธีครอบประธานประกอบพิธีไหว้ครูโขน ละคร ตามแบบแผนราชประเพณีโบราณ ซึ่งได้ผนวกเอาพิธีต่อท่ารำเพลงหน้าพาทย์องค์พระพิราพเข้าในวันนั้นด้วย พระราชพิธีกระทำในวันพฤหัสบดี ที่ ๒๕ ตุลาคม ๒๕๒๗ ณ ศาลาดุสิดาลัย พระตำหนักจิตรลดารโหฐาน ซึ่งเป็นพระราชพิธีที่มีความสำคัญสูงสุดของวงการนาฏศิลปิ์และดุริยางคศิลป์ไทย เป็นพระราชพิธีครั้งแรกของประเทศไทย นับเป็นประวัติศาสตร์ซึ่งไม่เคยมีมาก่อน
ประเภทของนาฏศิลป์ไทย
นาฏศิลป์ไทย จำแนกออกได้เป็น
1. การแสดงโขน

โขนเป็นนาฏศิลป์ชั้นสูงที่เก่าแก่ของไทย มีมานานตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยา ตามหลักฐานจากจดหมายเหตุของลาลูแบร์ ราชทูตฝรั่งเศสสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช ได้กล่าวถึงการเล่นโขนว่า เป็นการเต้นออกท่าทางเข้ากับเสียงซอและเครื่องดนตรีอื่นๆ ผู้เต้นสวมหน้ากากและถืออาวุธ โขนเป็นที่รวมของศิลปะหลายแขนงคือ โขนนำวิธีเล่นและวิธีแต่งตัวบางอย่างมาจากการเล่นชักนาคดึกดำบรรพ์ โขนนำท่าต่อสู้โลดโผน ท่ารำท่าเต้นมาจากกระบี่กระบอง และโขนนำศิลปะการพากย์การเจรจา หน้าพาทย์เพลงดนตรี การแสดงโขน ผู้แสดงสวมศีรษะคือหัวโขน ปิดหน้าหมด ยกเว้น เทวดา มนุษย์ และมเหสี ธิดาพระยายักษ์ มีต้นเสียงและลูกคู่ร้องบทให้และมีคนพากย์และเจรจาให้ด้วย เรื่องที่แสดงนิยมแสดงเรื่องรามเกียรติ์และอุณรุฑ ดนตรีที่ใช้ประกอบการแสดงโขนใช้วงปี่พาทย์

ประเภทของโขน แบ่งออกเป็น ๕ ประเภท คือ
๑ โขนกลางแปลง ๒ โขนโรงนอก หรือโขนนั่งราว ๓ โขนหน้าจอ ๔ โขนโรงใน ๕ โขนฉาก
๑. โขนกลางแปลง คือ การเล่นโขนบนพื้นดิน ณ กลางสนาม ไม่ต้องสร้างโรงให้เล่น นิยมแสดงตอนยกทัพรบกัน โขนกลางแปลงได้วิวัฒนาการมาจากการเล่นชักนาคดึกดำบรรพ์ เรื่องกวนน้ำอมฤต เรื่องมีอยู่ว่า เทวดาและอสูรใคร่จะเป็นอมตะ จึงไปทูลพระนารายณ์ พระนารายณ์จึงแนะนำให้กวนน้ำอมฤต โดยใช้เขามนทคิรีเป็นไม้กวน เอาพระยาวาสุกรีเป็นเชือกพันรอบเขา เทวดาชักทางหาง หมุนเขาไปมา พระยาวาสุกรีพ่นพิษออกมา พระนารายณ์เชิญให้พระอิศวรดื่มพิษนั้นเสีย พระอิศวรจึงมีศอสีนิลเพราะพิษไหม้ ครั้นกวนต่อไป เขามนทคิรีทะลุลงไปใต้โลก พระนารายณ์จึงอวตารเป็นเต่าไปรองรับเขามนทคิรีไว้ ครั้นได้น้ำอมฤตแล้ว เทวดาและอสูรแย่งชิงน้ำอมฤตกันจนเกิดสงคราม พระนารายณ์จึงนำน้ำอมฤตไปเสีย พวกอสูรไม่ได้ดื่มน้ำอมฤตก็ตายในที่รบเป็นอันมาก เทวดาจึงเป็นใหญ่ในสวรรค์ พระนารายณ์เมื่อได้น้ำอมฤตไปแล้ว ก็แบ่งน้ำอมฤตให้เทวดาและอสูรดื่ม พระนารายณ์แปลงเป็นนางงามรินน้ำอมฤตให้เทวดา แต่รินน้ำธรรมดาให้อสูร ฝ่ายราหูเป็นพี่น้องกับพระอาทิตย์และพระจันทร์แต่ราหูเป็อสูร ราหูเห็นเทวดาสดชื่นแข็งแรงเมื่อได้ดื่มน้ำอมฤต แต่อสูรยังคงอ่อนเพลียอยู่ เห็นผิดสังเกต จึงแปลงเป็นเทวดาไปปะปนอยู่ในหมู่เทวดา จึงพลอยได้ดื่มน้ำอมฤตด้วย พระอาทิตย์และพระจันทร์จึงแอบบอกพระนารายณ์ พระนารายณ์โกรธมากที่ราหูตบตาพระองค์ จึงขว้างจักรไปตัดกลางตัวราหู ร่างกายท่อนบนได้รับน้ำอมฤตก็เป็นอมตะ แต่ร่างกายท่อนล่างตายไป ราหูจึงเป็นยักษ์มีกายครึ่งท่อน ราหูโกรธและอาฆาตพระอาทิตย์และพระจันทร์มาก พบที่ไหนก็อมทันที เกิดเป็นราหูอมจันทร์หรือจันทรคราสและสุริยคราส ต่อมาเมื่อพระพุทธเจ้ามาเทศนาให้ราหูเลิกพยาบาทจองเวร ราหูจึงได้คลายพระอาทิตย์หรือพระจันทร์ออก การเล่นชักนาคดึกดำบรรพ์ เล่นในพิธีอินทราภิเษก มีปรากฏในกฎมณเฑียรบาลสมัยกรุงศรีอยุธยา โขนกลางแปลงนำวิธีการแสดงคือการจัดกระบวนทัพ การเต้นประกอบหน้าพาทย์ มาจากการเล่นชักนาคดึกดำบรรพ์ แต่เปลี่ยนมาเล่นเรื่องรามเกียรติ์ และเล่นตอนฝ่ายยักษ์และฝ่ายพระรามยกทัพรบกัน จึงมีการเต้นประกอบหน้าพาทย์ และอาจมีบทพาทย์และเจรจาบ้างแต่ไม่มีบทร้อง
๒ โขนโรงนอก หรือโขนนั่งราว เป็นการแสดงบนโรงมีหลังคา ไม่มีเตียงสำหรับตัวโขนนั่ง แต่มีราวพาดตามส่วนยาวของโรงตรงหน้าฉาก (ม่าน) มีช่องทางให้ผู้แสดงเดินได้รอบราวแทนเตียง มีการพากย์และเจรจา แต่ไม่มีการร้อง ปี่พาทย์บรรเลงเพลงหน้าพาทย์ มีปี่พาทย์ ๒ วง เพราะต้องบรรเลงมาก ตั้งหัวโรงท้ายโรง จึงเรียกว่าวงหัวและวงท้าย หรือวงซ้ายและวงขวา วันก่อนแสดงโขนนั่งราวจะมีการโหมโรง และให้พวกโขนออกมากระทุ้งเส้าตามจังหวะเพลง พอจบโหมโรงก็แสดงตอนพิราพออกเที่ยวป่า จับสัตว์กินเป็นอาหาร พระรามหลงเข้าสวนพวาทองของพราพ แล้วก็หยุดแสดง พักนอนค้างคืนที่โรงโขน รุ่งขึ้นจึงแสดงตามเรื่องที่เตรียมไว้ จึงเรียกว่า "โขนนอนโรง"
๓ โขนหน้าจอ คือโขนที่เล่นตรงหน้าจอ ซึ่งเดิมเขาขึงไว้สำหรับเล่นหนังใหญ่ ในการเล่นหนังใหญ่นั้น มีการเชิดหนังใหญ่อยู่หน้าจอผ้าขาว การแสดงหนังใหญ่มีศิลปะสำคัญ คือการพากย์และเจรจา มีดนตรีปี่พาทย์ประกอบการแสดง ผู้เชิดตัวหนังต้องเต้นตามลีลาและจังหวะดนตรี นิยมแสดงเรื่องรามเกียรติ์ ต่อมามีการปล่อยตัวแสดงออกมาแสดงหนังจอ แทนการเชิดหนังในบางตอน เรียกว่า "หนังติดตัวโขน" มีผู้นิยมมากขึ้น เลยปล่อยตัวโขนออกมาแสดงหน้าจอตลอด ไม่มีการเชิดหนังเลย จึงกลายเป็นโขนหน้าจอ และต้องแขวะจอเป็นประตูออก ๒ ข้าง เรียกว่า "จอแขวะ"
๔ โขนโรงใน คือ โขนที่นำศิลปะของละครในเข้ามาผสม โขนโรงในมีปี่พาทย์บรรเลง ๒ วงผลัดกัน การแสดงก็มีทั้งออกท่ารำเต้น ทีพากย์และเจรจาตามแบบโขน กับนำเพลงขับร้องและเพลงประกอบกิริยาอาการ ของดนตรีแบบละครใน และมีการนำระบำรำฟ้อนผสมเข้าด้วย เป็นการปรับปรุงให้วิวัฒนาการขึ้นอีก การผสมผสานระหว่างโขนกับละครในสมัยรัชกาลที่ ๑ รัชกาลที่ ๒ ทั้งมีราชกวีภายในราชสำนักช่วยปรับปรุงขัดเกลา และประพันธ์บทพากย์บทเจรจาให้ไพเราะสละสลวยขึ้นอีก โขนที่กรมศิลปากรนำออกแสดงในปัจจุบันนี้ ก็ใช้ศิลปะการแสดงแบบโขนโรงใน ไม่ว่าจะแสดงกลางแจ้งหรือแสดงหน้าจอก็ตาม
๕ โขนฉาก เกิดขึ้นในสมัยรัชกาลที่ ๕ เมื่อมีผู้คิดสร้างฉากประกอบเรื่องเมื่อแสดงโขนบนเวที คล้ายกับละครดึกดำบรรพ์ ส่วนวิธีแสดงดำเนินเช่นเดียวกับโขนโรงใน แต่มีการแบ่งเป็นชุดเป็นตอน เป็นฉาก และจัดฉากประกอบตามท้องเรื่อง จึงมีการตัดต่อเรื่องใหม่ไม่ให้ย้อนไปย้อนมา เพื่อสะดวกในการจัดฉาก กรมศิลปากรได้ทำบทเป็นชุดๆ ไว้หลายชุด เช่น ชุดปราบกากนาสูร ชุดมัยราพณ์สะกดทัพ ชุดชุดนางลอย ชุดนาคบาศ ชุดพรหมาสตร์ ชุดศึกวิรุญจำบัง ชุดทำลายพิธีหุงน้ำทิพย์ ชุดสีดาลุยไฟและปราบบรรลัยกัลป์ ชุดหนุมานอาสา ชุดพระรามเดินดง ชุดพระรามครองเมือง


การแสดงโขน โดยทั่วไปนิยมแสดงเรื่อง "รามเกียรติ์" กรมศิลปากรเคยจัดแสดงเรื่องอุณรุฑ แต่ไม่เป็นที่นิยมเท่าเรื่องรามเกียรติ์ เรื่องรามเกียรติ์ที่นำมาแสดงโขนนั้นมีหลายสำนวน ทั้งที่ประพันธ์ขึ้นในสมัยกรุงศรีอยุธยา กรุงธนบุรีและกรุงรัตนโกสินทร์ โดยเฉพาะบทในสมัยรัตนโกสินทร์ นิยมแสดงตามสำนวนของรัชกาลที่ ๒ ที่กรมศิลปากรปรับปรุงเป็นชุดเป็นตอน เพื่อแสดงโขนฉาก ก็เดินเรื่องตามสำนวนของรัชกาลที่ ๒ รัชกาลที่ ๖ ก็เคยทรงพระราชนิพนธ์บทร้องและบทพากย์ไว้ถึง ๖ ชุด คือ ชุดสีดาหาย ชุดเผาลงกา ชุดพิเภกถูกขับ ชุดจองถนน ชุดประเดิมศึกลงกา และชุดนาคบาศ

ลักษณะบทโขน ประกอบด้วย
บทร้อง ซึ่งบรรจุเพลงไว้ตามอารมณ์ของเรื่อง บทร้องแต่งเป็นกลอนบทละครเป็นส่วนใหญ่ อาจมีคำประพันธ์ชนิดอื่นบ้างแต่ไม่นิยม บทร้องนี้จะมีเฉพาะโขนโรงในและโขนฉากเท่านั้น
บทพากย์ การแสดงโขนโดยทั่วไปจะเดินเรื่องด้วยบทพากย์ ซึ่งแต่งเป็นคำประพันธ์ชนิดกาพย์ฉบัง ๑๖ หรือกาพย์ยานี ๑๑ บทมีชื่อเรียกต่าง ๆ ดังนี้
๑ พากย์เมือง หรือพากย์พลับพลา คือบทตัวเอก เช่น ทศกัณฐ์หรือพระรามประทับในปราสาทหรือพลับพลา เช่น
ครั้นรุ่งแสงสุริยโอภา พุ่งพ้นเวหา
คิรียอดยุคันธร
สมเด็จพระหริวงศ์ทรงศร ฤทธิ์เลื่องลือขจร
สะท้อนทั้งไตรโลกา
เสด็จออกนั่งหน้าพลับพลา พร้อมด้วยเสนา
ศิโรตมก้มกราบกราน
พิเภกสุครีพหนุมาน นอบน้อมทูลสาร
สดับคดีโดยถวิล

๒ พากย์รถ เป็นบทชมพาหนะและกระบวนทัพ ไม่ว่าจะเป็นรถ ม้า ช้าง หรืออื่นใดก็ได้ ตลอดจนชมไพร่พลด้วย เช่น
เสด็จทรงรถเพชรเพชรพราย พรายแสงแสงฉาย
จำรูญจำรัสรัศมี
อำไพไพโรจน์รูจี สีหราชราชสีห์
ชักรชรถรถทรง
ดุมหันหันเวียนวง กึกก้องก้องดง
เสทือนทั้งไพรไพรวัน
ยักษาสารถีโลทัน เหยียบยืนยืนยัน
ก่งศรจะแผลแผลงผลาญ


๓ พากย์โอ้ เป็นบทโศกเศร้า รำพัน คร่ำครวญ ซึ่งตอนต้นเป็นพากย์ แต่ตอนท้ายเป็นทำนองร้องเพลงโอ้ปี่ ให้ปี่พาทย์รับ
๔ พากย์ชมดง เป็นบทตอนชมป่าเขา ลำเนาไพร ทำนองตอนต้นเป็นทำนองร้อง เพลงชมดงใน ตอนท้ายเป็นทำนองพากย์ธรรมดา
๕ พากย์บรรยาย เป็นบทขยายความเป็นมา ความเป็นไป หรือพากย์รำพึงรำพันใดๆ เช่น พากย์บรรยายตำนานรัตนธนู
๖ พากย์เบ็ดเตล็ด เป็นบทที่ใช้ในโอกาสทั่วๆ ไป เป็นเรื่องเล็กๆ น้อยๆ ที่ไม่เข้าประเภทใด เช่นกล่าวว่า ใครทำอะไร หรือพูดกับใคร ว่าอย่างไร

บทเจรจา เป็นบทกวีที่แต่งเป็นร่ายยาว ส่งและรับสัมผัสกันไปเรื่อยๆ ใช้ได้ทุกโอกาส สมัยโบราณเป็นบทที่คิดขึ้นสดๆ เป็นความสามารถของคนพากย์ คนเจรจา ที่จะใช้ปฏิภาณคิดขึ้นโดยปัจจุบัน ให้ได้ถ้อยคำสละสลวย มีสัมผัสแนบเนียน และได้เนื้อถ้อยกระทงความถูกต้องตามเนื้อเรื่อง ผู้พากย์เจรจาที่เก่งๆ ยังสามารถใช้ถ้อยคำคมคาย เหน็บแนมเสียดสี บางครั้งก็เผ็ดร้อน โต้ตอบกันน่าฟังมาก ปัจจุบันนี้ บทเจรจาได้แต่งไว้เรียบร้อยแล้ว ผู้พากย์เจรจาก็ว่าตามบทให้เกิดอารมณ์คล้อยตามถ้อยคำ โดยใช้เสียงและลีลาในการเจรจา ผู้พากย์และเจรจาต้องทำสุ้มเสียงให้เหมาะกับตัวโขน และใส่ความรู้สึกให้เหมาะกับอารมณ์ในเรื่อง คนพากย์และเจรจานี้ใช้ผู้ชาย คนหนึ่งต้องทำหน้าที่ทั้งพากย์และเจรจา และต้องมีไม่น้อยกว่า ๒ คน จะได้โต้ตอบกันทันท่วงที เมื่อพากย์หรือเจรจาจบกระบวนความแล้ว ต้องการจะให้ปี่พาทย์ทำเพลงอะไรก็ร้องบอกไป เรียกว่า "บอกหน้าพาทย์" และถ้าการแสดงโขนนั้นมีขับร้อง คนพากย์และเจรจายังจะต้องทำหน้าที่บอกบทด้วย การบอกบทจะต้องบอกให้ถูกจังหวะ

วิธีดูโขน โขนเป็นละครใบ้ โดยเฉพาะโขนกลางแปลง ผู้ดูจึงต้องดูการแสดงท่าทาง ซึ่งจะบอกความหมาย ความรู้สึกความคิด ความประสงค์ต่างๆ ได้ทุกอย่าง ท่าทางที่โขนแสดงออกย่อมสัมพันธ์กับดนตรี ฉะนั้น หน้าพาทย์ต่างๆ ที่ใช้ในการแสดงโขนจึงมีความสำคัญมาก เช่น เพลงกราวนอก กราวในที่ใช้ในเวลาจัดทัพ แสดงให้เห็นความเข้มแข็งคึกคักของทหาร ท่าทางของผู้แสดงก็แสดงให้เห็นความเข้มแข็งคึกคัก กระหยิ่ม องอาจ กล้าหาญ ความพร้อมเพรียงของกองทัพ หรือเพลงเชิดและท่ารบ ก็แสดงให้เห็นการรุกไล่หลบหลีก ปิดป้อง หลอกล่อต่างๆ
ภาษาท่าทางของโขน จำแนกได้เป็น ๓ ประเภท คือ๑. ท่าซึ่งใช้แทนคำพูด เช่น รับ ปฏิเสธ๒. ท่าซึ่งใช้เป็นอิริยาบท และกิริยาอาการ เช่น เดิน ไหว้ ยิ้ม ร้องไห้๓. ท่าซึ่งแสดงถึงอารมณ์ภายใน เช่น รัก โกรธ ดีใจ เสียใจ
โอกาสที่แสดงโขน ๑. แสดงเป็นมหกรรมบูชา เช่น ในงานถวายพระเพลิงพระบรมศพ หรือพระศพ พระบรมอัฐิ หรืออัฐเจ้านาย ตลอดจนศพขุนนาง หรือผู้ใหญ่เป็นที่เคารพนับถือทั่วไป๒. แสดงเป็นมหรสพสมโภช เช่น ในงานฉลองปูชนียสถาน ปูชนียวัตถุ พระพุทธบาท พระแก้วมรกต พระอาราม หรือสมโภชเจ้านายทรงบรรพชา สมโภชในพระราชพิธีบรมราชาภิเษก สมโภชในงานเฉลิมพระชนม์พรรษา สมโภชวันประสูติเจ้านายที่สูงศักดิ์ เป็นต้น๓. แสดงเป็นมหรสพเพื่อความบันเทิง ในโอกาสทั่วๆ ไป

2. การแสดงละคร
ละครไทย เป็นศิลปะและวัฒนธรรมไทย ซึ่งมีมาตั้งแต่สมัยโบราณ แบ่งออกเป็น ละครรำแบบดั้งเดิม ได้แก่ ละครชาตรี ละครนอก ละครใน และ ละครรำที่ประยุกต์ขึ้นใหม่ ได้แก่ ละครดึกดำบรรพ์ ละครพันทาง ละครเสภา ละครสังคีต ละครร้อง ละครพุด ละครเพลง ละครหลวงวิจิตรวาทการ เช่น
ละครชาตรี
ละครนอก
ละครใน
ละครดึกดำบรรพ์
ละครพันทาง
ละครเสภา
ละครสังคีต
ละครร้อง
ละครพูด
ละครเพลง
ละครหลวงวิจิตรวาทการ
ลิเก

ละครชาตรี
เป็นละครรำที่เก่าแก่ที่สุด มีมาตั้งแต่สมัยอยุธยา นับเป็นละครชนิดแรก ที่ไทยเริ่มมีการแสดงเป็นเรื่อง มีการร่ายรำตามบทร้องที่มีเนื้อเรื่อง ระยะแรกเริ่มผู้แสดงเป็นชายล้วน มีตัวละครเพียง ๓ ตัว คือ นายโรง(พระเอก) นาง และตลก หรือจำอวด ซึ่งแสดงเป็นตัวประกอบอื่นๆ ด้วย ตามเนื้อเรื่อง เช่น ฤาษี ม้า ยักษ์ พราน เสนา
เรื่องที่แสดง ละครชาตรีนิยม แสดงเรื่อง มโนห์รา และรถเสน
การแต่งกาย สมัยโบราณผู้แสดงเป็นชายล้วน แต่งกายไม่สวมเสื้อ นุ่งสนับเพลา เชิงกรอมข้อเท้า นุ่งผ้าหยักรั้ง จีบโจงไว้หางหงส์ มีห้อยหน้า เจียระบาด รัดสะเอว สวมสังวาล กรองคอ ทับทรวง ศีรษะสวมเทริด(เซิด)
การแสดง เรื่มด้วยพิธีบูชาครู เป็นการเบิกโรง แล้วจึงโหมโรง ร้องประกาศหน้าบท ร้องขานเอ เป็นการไหว้ครู นายโรงออกรำซัด พร้อมทั้งว่าคาถาอาคมกันเสนียดจัญไร รำเวียนซ้าย เรียกว่า ชักใยแมงมุม หรือชักยันต์ เริ่มแสดงโดยตัวละครออกนั่งเตียง ตัวละครต้องร้องเอง มีลูกคู่รับ มีคนบอกบท จบการแสดงจะมีการรำซัดอีกครั้ง พร้อมทั้งว่าอาคมถอยหลัง รำเวียนขวา เรียกว่าคลายยันต์ เป็นการถอนอาถรรพณ์
ดนตรีประกอบ มีน้อยชิ้น และเป็นเครื่องเบาๆ เหมาะที่จะขนย้ายร่อนเร่ไปแสดงที่ต่างๆ ดนตรีมีเพียง ปี่ ๑ เลา โทน(ชาตรี) ๑ คู่ กลองเล็ก(กลองชาตรี) ๑ คู่ ฆ้องคู่ ๑ ราง ละครชาตรีที่มาแสดงในกรุงเทพฯ มักตัดเอาฆ้องคู่ออก ใช้ม้าล่อแทน ซึ่งเป็นประเพณีสืบต่อมา และบางครั้งก็ยังใช้กลองแขกอีกด้วย
เพลงร้อง ในสมัยโบราณตัวละครมักจะเป็นผู้ด้นกลอนและร้องเป็นทำนองเพลงร่าย และปัจจุบันเพลงร้องมักมีคำว่า ชาตรี อยู่ด้วย เช่น ร่ายชาตรี ร่ายชาตรีกรับ ร่ายชาตรี ๒ ร่ายชาตรี ๓ รำชาตรี ชาตรีตะลุง
สถานที่แสดง ที่บ้าน ที่กลางแจ้ง หรือจะเป็นที่ศาลเจ้าก็ได้ ไม่ต้องมีสิ่งใดประกอบมากมาย ไม่ต้องมีฉาก บริเวณที่แาดงนอกจากมีหลังคาไว้บังแดดบังฝนตามธรรมดา โบราณใช้เสา ๔ ต้น ปัก ๔ มุม เป็นสี่เหลี่ยมจัตุรัส มีเตียง ๑ เตียง จะลงเสากลางซึ่งถือว่าเป็นเสามหาชัยอีก ๑ เสา เสากลางนี้สำคัญมาก (ในสมัยก่อนจะต้องใช้ไม้ชัยพฤกษ์) เป็นเสาที่พระวิสสุกรรมเสด็จมาประทับเพื่อปกป้องผองภัยอันตราย จึงได้ทำเสาผูกผ้าแดงปักไว้ตรงกลางโรง เสานี้ใช้เป็นที่ผูกซองคลี (ซองใส่ไม้รบต่าง ๆ) ในภายหลัง เพื่อสะดวกในการแสดงที่ตัวละครจะหยิบได้ตามความต้องการโดยรวดเร็ว

ละครนอก
เป็นละครที่พัฒนามาจากละครชาตรี แต่เดิมคงมีตัวละครเพียง ๓-๔ ตัว อย่างละครชาตรี ต่อมามีการแสดงละครกันอย่างแพร่หลายทั่วไปในหมู่ราษฎร มีการเล่นเรื่องต่างๆ มากขึ้น ต้องเพิ่มตัวละครขึ้นตามเนื้อเรื่อง ผู้แสดงยังคงเป็นชายล้วน แต่การแต่งกายได้ประดิษฐ์เพิ่มเติม เปลี่ยนแปลงให้ประณีตงามขึ้น
เรื่องที่แสดง ในสมัยกรุงศรีอยุธยา นิยมเล่นกันหลายเรื่อง ล้วนแต่เป็นประเภทจักรๆ วงศ์ๆ นิทานชาวบ้าน นิทานชาดก มีคติสอนใจ เช่น การเกด คาวี ไชยทัต พิกุลทอง พิมพ์สวรรค์ พิณสุริยวงศ์ มโนราห์ โม่งป่า มณีพิชัย สังข์ทอง สังข์ศิลป์ชัย สุวรรณศิลป์ สุวรรณหงส์ โสวัต ในสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ มีบทพระราชนิพนธ์ละครนอก ในรัชกาลที่ ๒ อีก ๖ เรื่อง คือ สังข์ทอง ไชยเชษฐ์ ไกรทอง มณีพิชัย คาวี สังข์ศิลป์ชัย ทั้ง ๖ เรื่องนี้ พระราชนิพนธ์ขึ้นเพื่อให้ละครผู้หญิงของหลวงแสดง
การแต่งกาย คงแต่งอย่างชาวบ้านธรรมดา เพราะเป็นละครชาวบ้าน เพียงแต่ให้รัดกุมสะดวกในการทำบท และใช้ผ้าโพกหรือห่มพอให้รู้ว่าเป็นหญิงหรือชาย ต่อมา มีผู้ประดิษฐ์ให้งดงาม ปักดิ้นเลื่อมแพราวพราว ศีรษะสวมชฎาและรัดเกล้า ทั้งรัดเกล้ายอด รัดเกล้าเปลว ตลอดจนปันจุเหร็จ กระบังหน้ารูปต่างๆ
ผู้แสดง เริ่มมีผู้หญิงแสดงละครนอก ในสมัยรัชกาลที่ ๒ แต่เป็นละครหลวง ผู้แสดงต้องเป็นคนแคล่วคล่องว่องไว มีไหวพริบปฏิภาณชำนาญทั้งรำและร้อง มีลูกคู่รับ หากเป็นบทเล่าหรือบรรยาย ลูกคู่จะร้อง และผู้แสดงต้องพูดเอง เล่นตลกเอง มีคนบอกบทร้องให้
การแสดง ดำเนินเรื่องอย่างรวดเร็ว แทรกตลกขบขัน ไม่เคร่งครัดขนบประเพณี ตลกจะเล่นกับเจ้าฟ้า เจ้าแผ่นดินและมเหสีก็ได้ การร่ายรำด้วยท่าทางกระฉับกระเฉง ว่องไว
เพลงร้องและดนตรี เดิมใช้วงปี่พาทย์เครื่องห้าบรรเลงประกอบการแสดง ปัจจุบันเปลี่ยนแปลงตามความใหญ่โตของงาน เพลงร้องส่วนมากเป็นเพลงชั้นเดียว หรือสองชั้นที่มีจังหวะรวบรัด ดำเนินเรื่องด้วยเพลงร่ายนอก ระดับเสียงในการร้องและบรรเลงใช้ทางนอก เหมาะกับเสียงผู้ชาย
สถานที่แสดง โรงละครเป็นรูปสี่เหลี่ยมดูได้ ๓ ด้าน (เดิม) กั้นฉากผืนเดียวโดยไม่ต้องเปลี่ยนแปลงไปตามท้องเรื่อง มีประตูเข้าออก ๒ ทาง หน้าฉากตรงกลางตั้งเตียงสำกรับตัวละครนั่ง ด้านหลังฉากเป็นส่วนสำหรับละครพักแต่งตัว

ละครใน
เป็นละครที่แสดงในวัง ได้นำวิธีการเล่นเดินเรื่องอย่างละครนอก มาให้เหล่าระบำในพระราชฐานแสดง โดยนำบทที่เคยแสดงโขนคือเรื่องรามเกียรตื์ และอุณรุท มาแสดงโดยนางในราชสำนัก จึงเรียกว่าละครนางใน หรือละครข้างใน ต่อมาเรียกสั้นๆ ว่า ละครใน
เรื่องที่แสดง แสดงเฉพาะ ๓ เรื่อง คือ รามเกียรติ์ อุณรุท และอิเหนา
การแต่งกาย เครื่องแต่งกายประณีตงดงาม ตามแบบของกษัตริย์ เช่น มีมงกุฎ สังวาล ทับทรวง เจียระบาด ห้อยหน้า สนับเพลา พระภูษา ฉลองพระองค์ ฯลฯ
ผู้แสดง เดิมเป็นหญิงล้วน ต่อมาสมัยรัชกาลที่ ๑ มี ละครในผู้ชายแสดง เช่น นายทองอยู่เป็นอิเหนา
การแสดง ท่ารำ ต้องประณีตงดงามตามแบบราชสำนัก ละครในมุ่งดูศิลปะการร่ายรำมากกว่าเนื้อเรื่อง
ดนตรี ใช้วงปี่พาทย์เหมือนละครนอก ใช้ทางในซึ่งมีระดับเสียงเหมาะกับผู้หญิง และมักเป็นเพลงที่มีลีลา ท่วงทำนองค่อนข้างช้า วิจิตรพิสดาร เหมาะกับลีลาท่ารำ
เพลงร้อง ปรับปรุงให้มีทำนองและจังหวะนิ่มนวล สละสลวย ตัวละครไม่ร้องเอง มีต้นเสียงและลูกคู่ มักมีคำว่า "ใน" อยู่ท้ายเพลง เช่น ช้าปี่ใน โอ้โลมใน
สถานที่แสดง เดิมแสดงในพระราชฐานเท่านั้น ต่อมาแสดงไม่จำกัดสถานที่

ลิเก
เกิดขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 5 คำว่า ลิเก ในภาษามลายู แปลว่า ขับร้อง เดิมเป็นการสวดบูชาพระในศาสนาอิสลาม สวดเพลงแขกเข้ากับจังหวะรำมะนา พวกแขกเจ้าเซ็นได้สวดถวายตัวเป็นครั้งแรกในการบำเพ็ญพระราชกุศล เมื่อ พ.ศ. 2423 ต่อมาคิดสวดแผลงเป็นลำนำต่างๆ คิดลูกหมดเข้าแกมสวด ร้องเป็นเพลงต่างภาษา และทำตัวหนังเชิด โดยเอารำมะนาเป็นจอก็มี ลิเกจึงกลายเป็นการเล่นขึ้น ต่อมามีผู้คิดเล่นลิเกอย่างละคร คือ เริ่มร้องเพลงแขก แล้วต่อไปเล่นอย่างละครรำ และใช้ปี่พาทย์อย่างละคร
ลิเกมี 3 แบบ คือ 1. ลิเกบันตน เริ่มด้วยร้องเพลงบันตนเป็นภาษามลายู ต่อมาก็แทรกคำไทยเข้าไปบ้าง ดนตรีก็ใช้รำมะนา จากนั้นก็แสดงเป็นชุดๆ ต่างภาษา เช่น แขก ลาว มอญ พม่า ต้องเเริ่มด้วยชุดแขกเสมอ ผู้แสดงแต่งตัวเป็นชาติต่างๆ ร้องเอง พวกตีรำมะนาเป็นลูกคู่ มีการร้องเพลงบันตนแทรกระหว่างการแสดงแต่ละชุด
2. ลิเกลูกบท คือ การแสดงผสมกับการขับร้องและบรรเลงเพลงลูกบท ร้องและรำไปตามกระบวนเพลง ใช้ปี่พาทย์ประกอบแทนรำมะนา แต่งกายตามที่นิยมในสมัยนั้นๆ แต่สีฉูดฉาด ผู้แสดงเป็นชายล้วน เมื่อแสดงหมดแต่ละชุด ปี่พาทย์จะบรรเลงเพลง 3 ชั้นที่เป็นแม่บทขึ้นอีก และออกลูกหมดเป็นภาษาต่างๆ ชุดอื่นๆ ต่อไปใหม่
3. ลิเกทรงเครื่อง เป็นการผสมผสาน ระหว่างลิเกบันตนและลิเกลูกบท มีท่ารำเป็นแบบแผน แต่งตัวคล้ายละครรำ แสดงเป็นเรื่องยาวๆ อย่างละคร เริ่มด้วยโหมโรงและบรรเลงเพลงภาษาต่างๆ เรียกว่า "ออกภาษา" หรือ "ออกสิบสองภาษา" เพลงสุดท้ายเป็นเพลงแขก พอปี่พาทย์หยุด พวกตีรำมะนาก็ร้องเพลงบันตน แล้วแสดงชุดแขก เป็นการคำนับครู ใช้ปี่พาทย์รับ ต่อจากนั้นก็แสดงตามเนื้อเรื่อง ลิเกที่แสดงในปัจจุบันเป็นลิเกทรงเครื่อง
วิธีแสดง เดินเรื่องรวดเร็ว ตลกขบขัน การแสดงเริ่มด้วยโหมโรง 3 ลา จบแล้วบรรเลงเพลงสาธุการ ให้ผู้แสดงไหว้ครู แล้วจึงออกแขก บอกเรื่องที่จะแสดง สมัยก่อนมีการรำถวายมือหรือรำเบิกโรง แล้วจึงดำเนินเรื่อง ต่อมาการรำถวายมือก็เลิกไป ออกแขกแล้วก็จับเรื่องทันที การร่ายรำน้อยลงไปจนเกือบไม่เหลือเลย คงมีเพียงบางคณะที่ยังยึดศิลปะการรำอยู่
ผู้แสดง เดิมใช้ผู้ชายล้วน ต่อมานายดอกดิน เสือสง่า ให้บุตรสาวชื่อละออง แสดงเป็นตัวนนางประจำคณะ ต่อมาคณะอื่นก็เอาอย่างบ้าง บางคณะให้ผู้หญิงเป็นพระเอก เช่น คณะกำนันหนู บ้านผักไห่ อยุธยา การแสดงชายจริงหญิงแท้นั้น คณะนายหอมหวล นาคศิริ เริ่มเป็นคณะแรก ผู้แสดงต้องมีปฏิภาณในการร้องและเจรจา ดำเนินเรื่องโดยไม่มีการบอกบทเลย หัวหน้าคณะจะเล่าให้ฟังก่อนเท่านั้น นอกจากนี้ การเจรจาต้องดัดเสียงให้ผิดปกติ ซึ่งเป็นเอกลักษณ์ ของลิเก แต่ตัวสามัญชนและตัวตลกพูดเสียงธรรมดา
เพลงและดนตรี ดำเนินเรื่องใช้เพลงหงส์ทองชั้นเดียว แต่ดัดแปลงให้ด้นได้เนื้อความมากๆ แล้วจึงรับด้วยปี่พาทย์ แต่ถ้าเล่นเรื่องต่างภาษา ก็ใช้เพลงที่มีสำเนียงภาษานั้นๆ ตามท้องเรื่อง แต่ด้นให้คล้ายหงส์ทอง ต่อมานายดอกดิน เสือสง่า ได้ดัดแปลงเพลงมอญครวญของลิเกบันตนที่ใช้กับบทโศก มาเป็นเพลงแสดงความรักด้วย
เรื่องที่แสดง นิยมใช้เรื่องละครนอก ละครใน และเรื่องพงศาวดารจีน มอญ ญวน เช่น สามก๊ก ราชาธิราช ฉันใดเวือง
การแต่งกาย แต่งตัวด้วยเครื่องประดับสวยงาม เลียนแบบเครื่องทรงกษัตริย์ จึงเรียกว่าลิเกทรงเครื่อง "สมัยของแพง" ก็ลดเครื่องแต่งกายที่แพรวพราวลงไป แต่บางคณะก็ยังรักษาแบบแผนเดิมไว้ โดยตัวนายโรงยังแต่งเลียนแบบเครื่องทรงของกษัตริย์ในส่วนที่มิใช่เครื่องต้น เช่น นุ่งผ้ายกทอง สวมเสื้อเข้มขาบหรือเยียรบับ แขนใหญ่ถึงข้อมือ คาดเข็มขัดนอกเสื้อ ประดับเครื่องราชอิสริยาภรณ์ต่างๆ แต่ดัดแปลงเสียใหม่ เช่น เครื่องสวมศีรษะ เครื่องประดับหน้าอก สายสะพาย เครื่องประดับไหล่ตัวนางนุ่งจีบยกทอง สวมเสื้อแขนกระบอกยาว ห่มสไบปักแพรวพราว สวมกระบังหน้าต่อยอดมงกุฎ ที่แปลกกว่าการแสดงอื่นๆ คือสวมถุงเท้ายาวสีขาวแทนการผัดฝุ่นอย่างละคร แต่ไม่สวมรองเท้า
สถานที่แสดง ลานวัด ตลาด สนามกว้างๆ โดยปลูกเพิงสูงระดับตา ด้านหน้าเป็นที่แสดง ด้านหลังเป็นที่พักที่แต่งตัว

3. การแสดงรำและระบำ
รำวงมาตรฐาน วิวัฒนาการมาจากการรำโทน เป็นการละเล่นพื้นเมืองของไทย ต่อมาท่านผู้หญิงละเอียด พิบูลสงคราม ได้แต่งเนื้อร้องและมอบให้กรมศิลปากรบรรจุท่ารำไว้เป็นมาตรฐาน เป็นเพลงที่มีเนื้อร้องสุภาพ ใช้คำง่าย ทำนองเพลงง่าย มุ่งให้เห็นวัฒนธรรมของชาติเป็นส่วนใหญ่ การแสดงจะใช้ผู้แสดงหญิงชายไม่น้อยกว่า ๕ คู่
ท่ารำ คุณครูศุภลักษณ์ ภัทรนาวิก คุณครูมัลลี คงประภัศร์ และคุณครูลมุล ยมะคุปต์ ได้ร่วมกันประดิษฐ์ท่ารำขึ้น ทั้งหมด ๑๔ แม่ท่า เป็นชื่อท่ารำที่อยู่ในรำแม่บท มีทั้งหมด ๑๐ เพลง ได้แก่ เพลงงามแสงเดือน เพลงชาวไทย เพลง รำซิมารำ เพลงคืนเดือนหงาย เพลงดวงจันทร์วันเพ็ญ เพลงดอกไม้ของชาติ เพลงหญิงไทยใจงาม เพลงดวงจันทร์ขวัญฟ้า เพลงยอดชายใจหาญ และเพลงบูชานักรบ
คำร้อง จมื่นมานิตย์นเรศ (เฉลิม เศวตนันท์) หัวหน้ากองการสังคีต กรมศิลปากร ได้ประพันธ์ขึ้น ๔ เพลง คือ เพลงงามแสงเดือน เพลงชาวไทย เพลง รำซิมารำ เพลงคืนเดือนหงาย คุณหญิงละเอียด พิบูลสงคราม ได้ประพันธ์คำร้องไว้ ๖ เพลง คือ เพลงดวงจันทร์วันเพ็ญ เพลงดอกไม้ของชาติ เพลงหญิงไทยใจงาม เพลงดวงจันทร์ขวัญฟ้า เพลงยอดชายใจหาญ และเพลงบูชานักรบ
ทำนอง อาจารย์มนตรี ตราโมท ผู้เชี่ยวชาญดนตรีไทย กรมศิลปากร ได้แต่งทำนองไว้ ๖ เพลง คือ เพลงงามแสงเดือน เพลงชาวไทย เพลง รำซิมารำ เพลงคืนเดือนหงาย เพลงดวงจันทร์วันเพ็ญ เพลงดอกไม้ของชาติ ครูเอื้อ สุนทรสนาน หัวหน้าวงดนตรีกรมประชาสัมพันธ์ แต่งทำนองไว้ ๔ เพลง คือ เพลงหญิงไทยใจงาม เพลงดวงจันทร์ขวัญฟ้า เพลงยอดชายใจหาญ และเพลงบูชานักรบ
เครื่องดนตรี เดิมนั้น รำโทนมีเครื่องดนตรีประกอบ คือ ฉิ่ง กรับ ฉาบ และโทน เมื่อมีการพัฒนาการรำขึ้น จึงได้พัฒนาเครื่องดนตรีที่ใช้ด้วย โดยใช้วงดนตรีสากลบรรเลง
การแต่งกาย มิได้กำหนดเฉพาะเจาะจงว่าต้องแต่งชุดไทยอย่างใดอย่างหนึ่งแน่นอน แต่สามารถแต่งได้หลายอย่าง เช่น แต่งชุดไทยจักรี ชุดไทยสมัย ร.๖ ชุดไทยแบบชาวบ้านคือห่มสไบ นุ่งโจงกระเบน หรือชุดไทยสมัยใดก็ได้ ขอให้เป็นแบบไทย ขอให้ดูสุภาพ งดงาม ชายก็แต่งได้ทั้งชุดไทยแบบชาวบ้าน คือ นุ่งโจงกระเบน ใส่เสื้อคอพวงมาลัย แขนสั้น ผ้าคาดเอว หรือชุดไทยเสื้อพระราชทาน กางเกงขายาว ชุดราชปะแตน หรือชุดสากลใส่เสื้อสูท ผูกเนคไทก็ได้

รำโนราแม่บท
โนราเป็นการละเล่นพื้นเมืองที่สืบทอดกันมานาน และนิยมกันอย่างแพร่หลายในภาคใต้ เป็นการละเล่นที่มีทั้งการร้องและการรำ บางส่วนเล่นเป็นเรื่อง และมีบางโอกาสแสดงความเชื่อที่เป็นพิธีกรรม จากตำนานต่างๆ ได้กล่าวถึงการละเล่นพื้นเมืองนี้ เช่น บทพระราชนิพนธ์ เรื่อง"อิเหนา" ในรัชกาลที่ ๒ จนถึงสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ เรียกการละเล่นนี้ว่า "ชาตรี" หลังจากที่ชาตรีได้แพร่หลายสู่ภาคกลางแล้ว ชาวภาคกลางเห็นว่ามีลักษณะใกล้ละคร จึงเรียกว่า "ละครชาตรี" การฝึกหัดละครโนราชาตรี จะต้องหัดรำเพลงครู มีท่ารำทั้งหมด ๑๒ ท่า ซึ่งเป็นท่าแบบฉบับของโนรามาจนทุกวันนี้ ท่ารำเพลงครู ๑๒ ท่า ได้แก่
ท่าที่ ๑ ท่าแม่ลาย (กนก) ท่าที่ ๒ ท่าราหูจับจันทร์ ท่าที่ ๓ ท่ากินนร (รำ) ท่าที่ ๔ ท่าจับระบำ ท่าที่ ๕ ท่าลงฉาก ท่าที่ ๖ ท่าฉากน้อย ท่าที่ ๗ ท่าผาลา ท่าที่ ๘ ท่าบัวตูม ท่าที่ ๙ ท่าบัวบาน ท่าที่ ๑๐ ท่าบัวคลี่ ท่าที่ ๑๑ ท่าบัวแย้ม ท่าที่ ๑๒ ท่าแมงมุมชักใย
เครื่องดนตรีที่ใช้ประกอบการแสดง มี ๖ ชิ้น ได้แก่
๑. ทับ ๑ คู่ เป็นตัวคุมจังหวะและเดินทำนอง๒. กลอง ๑ ลูก เพื่อเสริมจังหวะทับ๓. ปี่ ๑ เลา ใช้สร้างบรรยากาศให้สอดคล้องกับลีลาการรำ๔. โหม่ง ๑ คู่ ใฃ้ประกอบจังหวะและเสียงร้อง๕. ฉิ่ง ๑ คู่ ใช้เสริมและเน้นจังหวะของทับ๖. กรับ ๑ อัน ใช้เป็นจังหวะ "ฉับ" ของฉิ่งให้ชัดเจน
รำโนราแม่บท มีการรำทั้งสิ้น 3 บทด้วยกัน คือ บทครูสอน บทสอนรำ และบทประถม


4. การละเล่นพื้นเมือง
การละเล่น หมายถึง การเล่นดนตรี การเล่นเพลง การเล่นรำ การเล่นที่ต้องร่วมกันตั้งแต่ ๒ คนขึ้นไป เรียกว่า มหรสพหรือศิลปะการแสดง พื้นเมือง หมายถึง สิ่งที่อยู่ในท้องถิ่นนั้น ๆ
การละเล่นพื้นเมือง หมายถึง การแสดงใด ๆ อันเป็นประเพณีนิยมในท้องถิ่นและเล่นกันใน ระหว่างประชาชน เพื่อความสนุกสนานรื่นเริงตามฤดูกาล การแสดงต้องเป็นไปอย่างมีวัฒนธรรม มีความเรียบร้อย ใช้ถ้อยคำสุภาพ แต่งกายสุภาพถูกต้องตามความนิยมและวัฒนธรรม เหมาะสมกับสภาพท้องถิ่น สถานที่ก็ต้องจัดให้เหมาะสมกับโอกาสที่จะแสดง ซึ่งการละเล่นพื้นเมือง จะไม่เป็นอาชีพหรือเพื่อหารายได้ จะมีดนตรีหรือการขับร้อง หรือการฟ้อนรำประกอบก็ได้
การละเล่นพื้นเมือง แบ่งเป็น ๒ ประเภท คือ การแสดงพื้นเมือง และ เพลงพื้นเมือง
การแสดงพื้นเมือง หมายถึง การละเล่นที่มีการแสดง การร่ายรำ มีเพลงดนตรีประกอบ ที่ได้วางเป็นแบบแผน และนิยมเล่นหรือถ่ายทอดสืบต่อกันมาจนแพร่หลายการแสดงพื้นเมือง อาจเกิดจากการบูชาบวงสรวงสิ่งศักดิ์สิทธิ์ เช่น ขอให้สิ่งที่ตนนับถือประทานสิ่งที่ตนปรารถนา หรือขจัดปัดเป่าสิ่งที่ไม่ปรารถนา นอกจากนี้ ก็เป็นการแสดงเพื่อความบันเทิงรื่นเริง
เพลงพื้นเมือง หมายถึง เพลงที่ชาวบ้านในท้องถิ่นนั้น ๆ ประดิษฐ์แบบแผนการร้องเพลง ไปตามความนิยม และสำเนียงภาษาพูดในท้องถิ่นของตน นิยมร้องเล่นกันในเทศกาลหรืองานที่มีการชุมนุมรื่นเริง เช่น ตรุษ สงกรานต์ ขึ้นปีใหม่ ทอดกฐิน ทอดผ้าป่า และในการลงแขกเกี่ยวข้าว นวดข้าว เป็นการเล่นที่สืบต่อกันมา เนื้อความของเพลงพื้นเมืองที่นิยมร้องกัน มักจะเป็นการเกี้ยวพาราสีระหว่างชายหญิง ปะทะคารมกัน ในด้านสำนวนโวหาร สิ่งสำคัญของการร้องคือ การด้นกลอนสด ร้องแก้กันด้วยปฏิภาณไหวพริบ ทำให้เกิดความสนุกสนานทั้งสองฝ่า

การละเล่นพื้นเมืองภาคเหนือ
ในภาคเหนือ ภูมิประเทศเป็นป่าเขา ต้นน้ำลำธาร อุดมด้วยทรัพยากรธรรมชาติ การทำมาหากินสะดวกสบาย ชาวเหนือจึงมีนิสัยอ่อนโยน ยิ้มแย้มแจ่มใส มีน้ำใจไมตรี การแสดงพื้นเมืองจึงมีลีลาอ่อนช้อย งดงามและอ่อนหวานการแสดงพื้นเมืองภาคเหนือ เรียกกันว่า ฟ้อน มีผู้แสดงเป็นชุดเป็นหมู่ ร่ายรำท่าเหมือนกัน แต่งกายเหมือนกัน มีการแปรแถวแปรขบวนต่าง ๆ ลักษณะของการแสดงพื้นเมือง ได้แก่ ลีลาการเคลื่อนไหว เป็นไปตามเอกลักษณ์ของแต่ละภาค เครื่องแต่งกาย เป็นลักษณะพื้นเมืองของภาคนั้น ๆ เครื่องดนตรี เป็นของท้องถิ่น ได้แก่ ปี่แน กลองตะโล้ดโป๊ด ฉาบใหญ่ ฆ้องโหม่ง ฆ้องหุ่ย เพลงบรรเลงและเพลงร้อง เป็นทำนองและสำเนียงท้องถิ่น
การแสดงพื้นเมืองภาคเหนือ ได้แก่ ฟ้อนเทียน ฟ้อนเล็บหรือฟ้อนเมือง ฟ้อนลาวแพน ฟ้อนรัก ฟ้อนเงี้ยว ฟ้อนดวงเดือน ฟ้อนดวงดอกไม้ ฟ้อนดวงเดือน ฟ้อนมาลัย ฟ้อนไต ฟ้อนดาบ ฟ้อนโยคีถวายไฟ ระบำชาวเขา รำกลองสะบัดไช
เพลงพื้นเมืองภาคเหนือ เช่น เพลงซอ เพลงชาวเหนือ เพลงดวงดอกไม้

การละเล่นพื้นเมืองภาคอีสาน
ภูมิประเทศภาคอีสานเป็นที่ราบสูง ค่อนข้างแห้งแล้งเพราะพื้นดินไม่เก็บน้ำ ฤดูแล้งจะกันดาร ฤดูฝนน้ำจะท่วม แต่ชาวอีสานก็มีอาชีพทำไร่ทำนา และเป็นคนรักสนุก จีงหาความบันเทิงได้ทุกโอกาสการแสดงของภาคอีสาน มักเกิดจากกิจวัตรประจำวัน หรือประจำฤดูกาล เช่น แห่นางแมว เซิ้งบั้งไฟ เซิ้งสวิง เซิ้งกระติบ รำลาวกระทบไม้ ฯลฯลักษณะการแสดงซึ่งเป็นลีลาเฉพาะของอีสาน คือ ลีลาและจังหวะในการก้าวเท้า มีลักษณะคล้ายเต้น แต่นุ่มนวล มักเดินด้วยปลายเท้าและสบัดเท้าไปข้างหลังสูง เป็นลักษณะของ เซิ้ง ดนตรีพื้นเมืองอีสาน ได้แก่ กลองยาว กรับ ฉาบ โหม่ง แคน โปงลาง
การแสดงพื้นเมืองภาคอีสาน ได้แก่ ฟ้อนภูไท เซิ้งสวิง เซิ้งโปงลาง เซิ้งตังหวาย ภูไทสามเผ่า ไทภูเขา เซิ้งกระติบข้าว
เพลงพื้นเมืองภาคอีสาน เช่น หมอลำ เพลงโคราช เจรียง กันตรึม เพลงล่องโขง เพลงแอ่วแคน

การละเล่นพื้นเมืองภาคใต้
ภาคใต้ เป็นดินแดนที่ติดทะเลทั้งฝั่งตะวันตกและตะวันออก ทางด้านใต้ติดกับมลายู ทำให้รับวัฒนธรรมของมลายูมาบ้าง และมีขนบประเพณีวัฒนธรรมและบุคคลิกบางอย่างคล้ายคลีงกัน คือ พูดเร็ว อุปนิสัยว่องไว ตัดสินใจรวดเร็วเด็ดขาด การแต่งกาย เพลง และดนตรีคล้ายคลึงกันมากการแสดงพื้นเมืองภาคใต้ แบ่งเป็น ๒ ประเภท คือ๑. มหรสพ คือ การแสดงเป็นเรื่อง เช่น หนังตะลุง มีตัวหนัง มีคนเชิด มีการร้องและเจรจา นอกจากนั้นมี ลิเกป่า หรือลิเกรำมะนา หรือลิเกแขกแดง หรือลิเกแขกเทศ หรือลิเกบก ซึ่งผู้แสดงโต้ตอบกันเป็นเรื่องราว อีกการแสดงคือ โนรา ถ้าเล่นเป็นเรื่องก็ถือเป็นมหรสพ แต่ถ้าร่ายรำเป็นชุด ก็ถือเป็นการแสดงเบ็ดเตล็ด๒. การแสดงเบ็ดเตล็ด คือ ร่ายรำเป็นชุด เช่น โนรา ร็องเง็ง ซัมเปง ตารีกีปัส ระบำร่อนแร่ กรีดยาง ปาเต๊ะ รำซัดชาตรี ดนตรีของภาคใต้ ได้แก่ กลองแขก รำมะนา ปี่ ทับ โหม่ง ฉิ่ง ซอ
เพลงพื้นเมืองภาคใต้ เช่น เพลงร้องเรือ(เพลงกล่อมเด็ก) เพลงบอก เพลงกำพรัด(หรือคำพลัด)

เพลงบอก
เพลงบอก เป็นเพลงพื้นบ้านที่ได้รับความนิยมสูงสุด และมีการแพร่กระจายทั่วทั้ง 14 จังหวัดภาคใต้ ตลอดไปถึงคนไทยในประเทศมาเลเซีย ศิลปินที่มีชื่อเสียงส่วนใหญ่อยู่ในจังหวัดนครศรีธรรมราช และจังหวัดสงขลาคำว่าเพลงบอก มาจากภาระหน้าที่ของเพลงชนิดนี้ กล่าวคือ สมัยก่อนเมื่อถึงเทศกาลสงกรานต์จะมีนักเลงกลอนชาวบ้าน เที่ยวตระเวนไปแทบทุกครัวเรือน เพื่อขับร้องกลอนบอกสงกรานต์ตามคำทำนายของโหรหลวง เพลงชนิดนี้จึงได้ชื่อว่า "เพลงบอก"
กลอนเพลงบอกพัฒนามาจาก "แปดบท" ขุนประดิษฐ์เป็นผู้คิดดัดแปลง จึงเรียกกันในครั้งนั้นว่า "เพลงบอกขุนประดิษฐ์" ต่อมาพระรัตนธัชมุนี (ม่วง รัตนธัชเถร) ได้ปรับรูปแบบกลอนอีกครั้งหนึ่ง และได้ใช้แต่งเรื่อง "ศาลาโกหกหรือสัจจศาลา" มอบให้ลูกเสือมณฑลนครศรีธรรมราชนำไปร้องในคราวชุมนุมลูกเสือแห่งชาติที่กรุงเทพฯ เมื่อ พ.ศ. 2470
ผู้แสดง ใช้ทั้งผู้ชายและผู้หญิงอย่างน้อย 6-7 คนหรือมากกว่านี้ก็ได้ ประกอบด้วยแม่เพลงและลูกคู่
การแต่งกาย แต่งกายแบบพื้นเมืองชาวภาคใต้ตามลักษณะชาวบ้านที่มีความเป็นอยู่ในท้องถิ่นนั้นๆ
การแสดง จะแตกต่างกันไปตามโอกาส ซึ่งถือว่ามีขนบนิยมในการเล่น ดังนี้
1. เล่นบอกสงกรานต์ เล่นได้ในช่วงตั้งแต่ขึ้น 3 ค่ำ เดือน 5 จนถึงวันเถลิงศก โดยคณะเพลงบอกและผู้นำทางซึ่งเป็นคนในหมู่บ้าน ออกว่าเพลงบอกไปตามบ้านต่างๆ ตั้งแต่พลบค่ำจนสว่างวิธีเล่นเพลง เมื่อคณะเพลงบอกถึงเขตรั้วบ้าน แม่เพลงจะขึ้นบทไหว้ครู ไหว้นนทรี ซึ่งเป็นเทวดารักษาประตูบ้าน ไหว้พระภูมิและสิ่งศักดิ์สิทธิ์ทั้งหลาย เมื่อก้าวเข้าสู่ลานบ้านจะชมบ้านเรือน ทรัพย์สินต่างๆ ฝ่ายเจ้าบ้านจะเปิดประตูปูเสื่อต้อนรับนอกตัวเรือน หลังจากคณะเพลงบอกสนทนากับเจ้าบ้านชั่วครู่ ก็ร้องกลอนบอกเรื่องราวของสงกรานต์ที่โหรทำนายให้ทราบ เจ้าบ้านอาจให้คณะเพลงบอกร้องกลอนเล่าตำนานสงกรานต์ หรืออาจยกถาดข้าวขวัญจากยุ้งข้าวมาให้คณะเพลงบอกร้องบูชาแม่โพสพ เมื่อเจ้าบ้านพอใจก็จะตกรางวัลให้ตามธรรมเนียม คณะเพลงบอกจะร้องเพลงอวยพร แล้วไปร้องบอกสงกรานต์บ้านอื่นๆ ต่อไป
2. เล่นบอกข่าวคราวและโฆษณา เช่น งานบุญต่างๆ เพลงบอกจะร้องเชิญชวนทำบุญ โดยจุดที่เพลงบอกอยู่จะมีการรับบริจาค เมื่อถึงช่วงเลือกตั้ง ทางราชการอาจจะหาเพลงบอกมาร้องกลอนเชิญชวนชาวบ้าน ให้ไปใช้สิทธิ์ลงคะแนนเลือกตั้ง ชี้แนะให้เลือกบุคคลที่มีคุณสมบัติเหมาะสม เป็นต้นทางด้านการโฆษณาเพื่อผลทางธุรกิจ ได้มีบริษัทห้างร้านหลายแห่งใช้เพลงบอกโฆษณาสินค้าทางวิทยุ และในงานสวนสนุก
3. เล่นประชัน คือ จัดเพลงบอก 2 คณะ ให้ร้องโต้กลอนสด การเล่นจะจัดให้เพลงบอกคู่ประชันนั่งห่างกันประมาณ 1 วา โดยมีประธานนั่งกลาง แต่ละฝ่ายจะมีแม่เพลง 1 คน และลูกคู่ 2-3 คน ไม่มีกรรมการ เริ่มโต้โดยผลัดกันไหว้ครู จากนั้นฝ่ายหนึ่งร้องนำเป็นทำนองข่มสำทับฝ่ายตรงกันข้าม เช่น เรื่องบุคคลิกลักษณะ ประวัติชีวิต ความรู้ความสามารถ การกล่าวข่มสำทับจะใช้วิธีอุปมาหรือไม่ก็ยกอุทาหรณ์ประกอบ ซึ่งทั้งสองฝ่ายจะต้องรู้ทันกัน การโต้จะดำเนินไปจนอีกฝ่ายเริ่มจนปัญญาจะยอมแพ้ หรือยุติกันไปเอง หรือไม่ก็ฟังเอาจากเสียงโห่ของคนฟัง ถ้าฝ่ายใดคนฟังให้เสียงโห่จนสิ้นเสียง ฝ่ายนั้นชนะ
4. ร้องชา เป็นการร้องเพลงบอกเพื่อการบวงสรวง บูชา หรือยกย่องชมเชย เช่น ชาขวัญข้าว ชาพระบรมธาตุ ชาปูชนียบุคคลและบุคคลสำคัญการร้องเพลงชาสิ่งเร้นลับเพื่อการบวงสรวง เช่น ชาขวัญข้าว จะต้องจัดเครื่องเซ่นบวงสรวงด้วย ลำดับขั้นตอนการในการร้องชาต้องถูกต้องตามธรรมเนียมที่เคยปฏิบัติกันมา


การละเล่นพื้นเมืองภาคกลาง
ภาคกลางมีภูมิประเทศเป็นที่ราบลุ่ม มีแม่น้ำหลายสาย เหมาะแก่การกสิกรรม ทำนา ทำสวน ประชาชนอยู่อย่างอุดมสมบูรณ์ จึงมีการเล่นรื่นเริงในโอกาสต่าง ๆ มากมาย ทั้งตามฤดูกาล ตามเทศกาล และตามโอกาสที่มีงานรื่นเริงภาคกลางเป็นที่รวมของศิลปวัฒนธรรม การแสดงจึงมีการถ่ายทอดสืบต่อกัน และพัฒนาดัดแปลงขึ้นเรื่อยๆ จนบางอย่างกลายเป็นการแสดงนาฏศิลป์แบบฉบับไปก็มี เช่น รำวง และเนื่องจากเป็นที่รวมของศิลปะนี้เอง ทำให้คนภาคกลางรับการแสดงของท้องถิ่นใกล้เคียงเข้าไว้หมด แล้วปรุงแต่งตามเอกลักษณ์ของภาคกลาง คือการร่ายรำที่ใช้มือ แขนและลำตัว เช่นการจีบมือ ม้วนมือ ตั้งวง การอ่อนเอียง และยักตัว
การแสดงพื้นเมืองภาคกลาง ได้แก่ รำวง รำเหย่ย เต้นกำรำเคียว เพลงเกี่ยวข้าว รำชาวนา เพลงเรือ เถิดเทิง เพลงฉ่อย รำต้นวรเชษฐ์ เพลงพวงมาลัย เพลงอีแซว เพลงปรบไก่ รำแม่ศรี
ดนตรีที่ใช้ประกอบการแสดง ได้แก่ วงปี่พาทย์
เพลงพื้นเมืองภาคกลาง เช่น เพลงเหย่อย เพลงเทพทอง เพลงฉ่อย เพลงอีแซว เพลงเรือ เพลงเกี่ยวข้าว เพลงสงฟาง เพลงพิษฐาน เพลงเต้นกำ เพลงรำเคียว เพลงพวงมาลัย เพลงชาวไร่ เพลงระบำ เพลงบ้านนา เพลงปรบไก่ เพลงสวรรค์ เพลงแอ่วซอ
เพลงพื้นเมืองบางอย่างได้วิวัฒนาการมาเป็นการแสดงที่มีศิลปะ มีระเบียบแบบแผน เช่น เพลงทรงเครื่อง คือ เพลงฉ่อย ที่แสดงเป็นเรื่อง ได้แก่ เรื่องขุนช้างขุนแผน หรือเรื่องที่แต่งขึ้นมาใหม่ลักษณะการแสดง เริ่มด้วยการไหว้ครู แล้ว่าประ แก้กันอย่างเพลงฉ่อยตามประเพณี แล้วก็แสดงเป็นเรื่องอย่างละคร ร้องดำเนินเรื่องด้วยเพลงฉ่อย และเพลงอื่นแทรกบ้าง ใฃ้วงปี่พาทย์รับการร้องส่งบ้างหรือบรรเลงเพลงหน้าพาทย์ประกอบกิริยาของตัวละครบ้าง
ตัวอย่างเพลงพื้นเมืองภาคกลาง
เพลงเกี่ยวข้าว
เพลงเกี่ยวข้าว เป็นเพลงที่สำหรับร้องกันในขณะลงแขกเกี่ยวข้าว อันเป็นอาชีพสำคัญของประชาชนชาวไทยอย่างหนึ่ง เพื่อให้ความสนุกสนานกับความเหน็ดเหนื่อยเมื่อยล้าในการงาน และเชื่อมความสามัคคีในระหว่างพื้นบ้านอาชีพเดียวกัน เนื้อความของเพลงมักจะเกี่ยวกับ การไต่ถามถึงการทำนาผสมผสานการเกี้ยวพาราสีกัน เพลงเกี่ยวข้าว บางแห่งเรียก "เพลงกำ" เวลาแสดงมือหนี่งถือเคียว อีกมือหนึ่งกำข้าวไว้ ย่ำเท้าใช้ลีลาไปตามจังหวะเพลง ใช้ตบมือให้จังหวะพร้อมๆ กัน บางครั้งใช้กลองและฉิ่งเข้าร่วมด้วย
ตัวอย่างเพลง (ของเดิม)

ต้นเสียง
ชะเอิง เงิงเงย ชะ เอิง เงิง เง้ย

ลูกคู่
เฮ้ เอ้า เฮ้ เฮ้

ต้นเสียง
แขกอาสาที่มาก็สาย ทั้งวัวทั้งควายพะรุงพะรัง (เฮ้ เอ้า เฮ้ เฮ้)


พี่ขี่ไอ้เผือกออกหน้า อีสร้อยระย้าตามหลัง

ลง
พี่ขี่ไอ้ทุยลุยซังไปกระทั่งนาเอย (เวลาลง ร้องซ้ำสองครั้ง)


(ลูกคู่รับย้อนต้น พร้อมๆ กัน)

ต้นเสียง
เกี่ยวข้าวอยู่ข้างทาง เห็นสายระยางเป็นเชือกชัก


พี่ขอถามน้องสาว ว่าทำข้าวเบาหรือว่าทำข้าวหนัก

ลง
ขอยืมเคียวเกี่ยวสักพัก แม่คนที่รักกันเอย

5. มหรสพไทย
มหรสพไทยที่นอกเหนือไปจาก โขน ละคร ลิเก ยังมีมหรสพอื่นๆ ได้แก่ การละเล่นของหลวงหรือมหรสพหลวง กระบี่กระบอง หุ่นไทย หนังใหญ่ มหรสพไทยจะมีขึ้นเมื่อมีงานต่างๆ ส่วนมากจะเป็นงานฉลอง สมโภช และงานศพซึ่งจัดได้ทุกระดับ ในงานพระเมรุมาศใหญ่ๆ ก็เคยมีมหรสพให้ประชาชนมาดูกัน ถ้าเป็นงานของหลวงก็จะยิ่งใหญ่และมีการแสดงต่างๆ หลากหลายกว่างานของสามัญชน สิ่งเหล่านี้เป็นมรดกสมบัติอันมีค่าของสังคมอันควคแก่การอนุรักษ์อย่างยิ่ง

มหรสพหลวง
มหรสพของหลวง มีมาแต่โบราณสมัยอยุธยา เป็นการเล่นในงานสมโภชของหลวง ซึ่งมีอยู่หลายอย่าง แต่ที่มีการฟ้อน การเต้น การรำ ด้วยนั้น มีอยู่ไม่กี่อย่าง เช่น ระเบง โมงครุ่ม กุลาตีไม้ แทงวิไสย รำโคม มหรสพในงานสมโภชของหลวงนี้ มีตำนานเรื่องราวสืบต่อมาจนปรากฏอยู่ในกฎมนเทียนบาลบ้าง พงศาวดารและวรรณคดีต่างๆ บ้าง แม้ในการเขียนภาพจิตรกรรมประดับผนังโบสถ์บางแห่ง ก็ยังได้เขียนภาพ การแสดงการเล่นต่างๆ ไว้ การเล่นอื่นๆ นอกเหนือจากข้างต้น ก็ยังมี หกคะเมน ไต่ลวด ลอดบ่วง นอนดาบ โยนมีด พุ่งหอก ยิงธนู รำแพน เป็นต้น ตัวอย่างการการละเล่นของหลวง ได้แก่
ระเบง สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัตติวงศ์ ทรงอธิบายว่า "...เป็นกษัตริย์ร้อยเอ็ดเจ็ดพระนคร จะไปช่วยโสกัต์ใครก็ไม่ทราบที่เขาไกรลาส บทมีว่า

โอละพ่อ เทวดามาบอก โอละพ่อ ยกออกจากเมือง
โอละพ่อ พร้อมกันทั้งปวง โอละพ่อ จะไปไกรลาสฯ

แล้วไปถูกพระกาลห้ามไม่ให้ไป แต่ฉันเข้าใจว่าเป็นพระขันธกุมาร เพราะมีรูปนกยูงซึ่งเป็นพาหนะอยู่ ทั้งพระขันธกุมารก็เกี่ยวข้องกับพระอิศวรซึ่งอยู่ ณ เขาไกรลาส ถ้าเป็นพระกาลรูปพาหนะจะต้องเป็นนกแสก เมื่อกษัตริย์ทั้งนั้นไม่ฟังห้าม จะยิงเอาพระกาล พระกาลก็สาปให้สลบ เมื่อพอใจแล้วก็ถอนสาปให้ฟื้น พวกกษัตริย์ก็กลับบ้านเมืองเท่านั้น ไปไม่ถึงไกรลาส..." ระเบง น่าจะจัดแสดงในงานสมโภชพระราชพิธีโสกันต์ เพราะมีการสร้างเขาพระสุเมรุหรือเขาไกรลาสจำลองด้วย โดยพระมหากษัตริย์ทรงแต่งพระองค์อย่างเทวดา สมมุติเป็นองค์พระอิศวร ทรงจูงพระกรพระราชโอรสหรือพระราชธิดาเสด็จขึ้นไกรลาส การเล่นระเบงมีไม่บ่อยนัก สำหรับการแต่งกายของผู้แสดงระเบงนี้ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว โปรดเกล้าฯ ให้ชาววังฝ่ายใน ซึ่งเป็นสตรีเล่นระเบงเลียนแบบผู้ชาย โดยนุ่งผ้าลายทับสนับเพลา สวมเสื้อผ้ามัสหรู่แขนยาว มีผ้าเข้มขาบไหมคาดเอว ศีรษะสวมเทริดลงรักปิดทอง มือขวาถือลูศร มือซ้ายถือคันธนู มีการตีฆ้องสามใบเถา ซึ่งเรียกว่า ฆ้องระเบง เป็นจังหวะสำหรับการร้องและการรับพร้อมกับยกขาเต้นก้าวเดินตามไปด้วย มือก็ตีลูกศรกับคันธนู การเล่นระเบงนี้ กรมศิลปากรเคยจัดแสดงที่โรงละคร เมื่อวันที่ ๒๕ มีนาคม ถึง ๖ เมษายน พ.ศ. ๒๔๙๐ โดยจัดระเบียบเสียใหม่ เป็น ๕ ตอน โดยเชื่อว่า เทวดาที่มาพบนั้น เป็นพระขันธกุมารมากกว่าจะเป็นพระกาล ที่จัดไว้ ๕ ตอน และปรับปรุงเนื้อร้องของเดิมที่พระยาเทวาธิราชถวายสมเด็จเจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัตติวงศ์ไว้ เพื่อให้สมบูรณ์ขึ้น กุลาตีไม้ เป็นการเล่นที่มีลักษณะคล้ายกับการเล่นพื้นเมืองของอินเดียใต้ ที่เรียกว่า"ทัณฑรส" มีคำอธิบายของสมเด็จเจ้าฟ้าฯ กรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ ในสาสน์สมเด็จ ว่า"กุลาตีไม้เป็นของแขกอินเดียแน่ ชื่อกุลาก็บอกอยู่ในตัวแล้ว เกล้ากระหม่อมเคยเห็นรูปตีพิมพ์ของฝรั่ง ซึ่งเขาลอกรูปเขียนในอินเดียมา มีรูปเทวดายืนเป็นวง สองมือถือไม้ประกับ ล้อมอยู่รอบกลอง พอเห็นก็เข้าใจทันทีว่า นี่คือรูปเล่นกุลาตีไม้..." การแต่งกายของผู้แสดงกุลาตีไม้ คือ แต่งตัวนุ่งผ้าโจงกระเบนหยักรั้งทับสนับเพลา สวมเสื้อแขนกระบอก คาดประคดรัดเอวทับเสื้อ ศีรษะสวมเทริด ถือคทารูปคล้ายกระบองทั้งสองมือ ยืนล้อมเป็นวงหันหน้าเข้าหากัน วงหนึ่ง ๖ หรือ ๘ จะมีกี่วงก็ได้ ไม่มีดนตรีอื่นประกอบนอกจากการร้อง ซึ่งมีบทร้องมีลักษณะเป็นโคลง หรือโคลงกระทู้ และอาจเขียนเป็นลักษณะกาพย์ได้ด้วย เริ่มแสดงโดยผู้แสดงถวายบังคมตามสัญญาณจากฆ้องโหม่ง ทุกคนร้องเองตามบทร้อง แล้วใช้ไม้ที่ถือตีเข้าจังหวะ มีท่าที่เต้นพร้อมกับการรำอยู่ ๖ ท่า คือ๑. นั่งคุกเข่าล้อมเป็นวงหันหน้าเข้าหากัน ตบมือเข้าจังหวะและลอยหน้าเข้าหากันเป็นคู่ๆ ซ้ายขวาสลับกัน จบบทหนึ่งก็เอาไม้ตีเป็นจังหวะ๒. หันตัวไปกึ่งขวาแล้วย่อเข่าก้าวเดินขยับไปเป็นวงกลม ต่างคนต่างเอาไม้เคาะเป็นจังหวะ เดินเข้าจังหวะฆ้องโหม่งและไม้ที่ตี แล้วเดินเวียนกลับมาที่เก่า๓. เดินย่อเข่าเวียนขวาแล้วกลับมาทางซ้าย ตีไม้โดยการพลิกขวาตีซ้าย ซ้ายตีขวา สลับกัน๔. หันไปตีโต้กันเป็นคู่ๆ โดยหันไปทางคู่ขวาแล้วหันมาทางคู่ซ้ายสลับกัน๕. หันหน้าเข้าหากันเป็นคู่ๆ โดยยืนเป็นวงแล้วยกไม้ตีโต้กันขวาต่อขวา ซ้ายต่อซ้าย และเดินหน้าคนหนึ่ง ถอยหลังคนหนึ่งเป็นคู่ๆ เคลื่อนไปเป็นวงกลม๖. เช่นเดียวกับท่าที่ ๕ แต่ตีไม้โต้กันโดยขวาตีขวาสูง ซ้ายตีซ้ายสูง แล้วเปลี่ยนมาเป็นขวาตีขวาต่ำ ซ้ายตีซ้ายต่ำสลับกันไป พร้อมกับเดินเป็นวงกลม จากนั้นก็นั่งลงถวายบังคม


กระบี่กระบอง
กระบี่กระบอง จัดเป็นการเล่นแบบกีฬาประเภทหนึ่ง ที่มักจัดให้แสดงเป็นการมหรสพในงานต่างๆ และยังเป็นการเล่นของไทยโดยแท้จริง เพราะไม่เคยปรากฏมีในประเทศใดในโลก เป็นกีฬามหรสพที่นิยมกันมาตังแต่โบราณ เป็นการฝึกหัดใช้อาวุธในยามสงบไปในตัว นับว่าเป็นการแสดงที่ทำให้ตื่นเต้น เร้าใจ มักแสดงในบริเวณที่กว้างๆ เช่น สนามหรือลานใหญ่ๆ ในวัดเครื่องกระบี่กระบอง มีอยู่ ๒ ชนิด คือ เครื่องไม้รำ กับเครื่องไม้ตี ทั้ง ๒ ชนิดนี้เป็นอาวุธจำลอง ส่วนมากทำมาจากหวาย มีความเหนียวและเบามือ เครื่องไม้รำนั้นลงรักปิดทองประดับกระจกอย่างสวยงาม ส่วนเครื่องไม้ตีไม่ได้ตกแต่งอะไร กระบี่ เครื่องไม้รำทำด้วยหวายหรือเอ็นสัตว์ถักเป็นปลอก สวมแกนโลหะที่ยาวตลอดลงไปถึงด้ามด้วย ตอนปลายเป็นหวายหรือเอ็นถึกคล้ายหางกระเบน มักจะลงรักให้แข็ง บางทีทาสีแดงตลอด ด้ามมีโกร่งกันมือ ส่วนเครื่องไม้ตีนั้นทำอย่างเดียวกันแต่ไม่ตกแต่งอะไร กระบองหรือพลอง เครื่องไม้รำทำด้วยหวายหรือไม้จริงลงรักปิดทอง เขียนลายรดน้ำหรือทาสีแดงตลอด ไม่มีโลหะประกอบอยู่ด้วยเลย บางทีก็ประดับกระจกอย่างกระบองของเจ้าเงาะในละครรำ เครื่องไม้ตีทำด้วยไม้รากไทรหรือหวายขนาดใหญ่ ลงรักดำหรือทาสีแดงตลอด ตอนปลายทั้งสองข้างใช้เชือกขนาดเล็กพันไว้ ดาบ เช่นเดียวกับกระบี่ แต่ไม่มีโกร่งกันมือ เครื่องไม้รำทำสวยงามมากดูคล้ายมีฝักอยู่ด้วย ส่วนเครื่องไม้ตีทำด้วยหวายเพื่อให้สามารถตีได้ไม่หัก การใช้ดาบนั้น มีทั้งดาบเดี่ยว ดาบคู่ ดาบกับดั้ง ดาบกับเขน ดาบกับโล่ แล้วแต่จะกำหนด ง้าว เครื่องไม้รำประดิษฐ์ตกแต่งสวยงามมาก ทำด้วยไม้จริง มีลักษณะใกล้เคียงกับง้าวของจริงมาก ส่วนเครื่องไม้ตีทำด้วยหวาย ไม่มีการตกแต่งอย่างใด
วิธีแสดง การเล่นกระบี่กระบอง มีอยู่ ๒ ประเภท คือ ประเภทแสดง กับประเภทแข่งขัน ประเภทแสดง - เป็นการเล่นของนักกระบี่กระบองในคณะเดียวกัน จึงเป็นไปอย่างรู้เชิงกันหรือนัดหมายกันไว้อย่างดี ตามภาษากระบี่กระบอง เรียกว่า "รู้ไม้" กันอยู่แล้ว ประเภทแข่งขัน - ต่างคณะจะลงประอาวุธกัน มีรสชาติขึ้นมาก เพราะสุดแต่ว่า ใครที่มาจากคณะใดจะมีความสามารถมากกว่ากัน การเล่นกระบี่กระบองที่ครบกระบวนการ จะต้องมีวงปี่ชวาและกลองแขก เสียงปี่เสียงกลองทำให้เกิดความคึกคักขึ้นทั้งผู้แสดงและผู้ดู ในวงปี่ชวา ๑ เลา กลองแขก ๒ ลูก ฉิ่ง ๑ คู่ สถานที่แสดง ได้แก่ ลานกว้างๆ พอที่จะให้ผู้แสดงได้ต่อสู้กันได้ไม่คับแคบนัก ก่อนจะลงมือแสดงจะต้องไหว้ครูกันก่อน จากนั้นก็ถึงการต่อสู้ ปี่ชวาจะขึ้นเพลงเร่งเร้าฟังคึกคัก แตกต่างออกไปจากเพลงไหว้ครู โดยคู่ต่อสู้จะต้องรำอาวุธก่อน ซึ่งเป็นการรำที่ผสมกันระหว่างแบบนาฏศิลป์ กับแบบเฉพาะของแต่ละคณะหรือแต่ละสำนัก เป็นการอวดความสวยงามกัน ตอนรำอาวุธนี้ จะใช้ไม้รำซึ่งขัดทำอย่างประณีตงดงามมาก ท่ารำที่ถือว่าเป็นแบบอย่างของกระบี่กระบอง มี "ขึ้นพรหม" เป็นการรำโดยหันไปสี่ทิศ แล้วก็ถึงท่า "คุม" ตามแบบฉบับคือ รำลองเชิงกันโดยต่างฝ่ายต่างรุกล้ำเข้าไปยังอีกฝ่ายหนึ่ง จากนั้นก็เป็นท่า "เดินแปลง" โดยการสังเกตดูเชิงกันและกัน แล้วจำไว้ว่าใครมีจุดอ่อนที่ใดบ้าง แล้วจึงคุกเข่า "ถวายบังคม" คือ กราบ ๓ ครั้ง จากนั้น จึงเปลี่ยนเครื่องไม้รำมาเป็นเครื่องไม้ตี นักกระบี่กระบองจะต้องสวมมงคลที่ทำด้วยด้ายดิบพันเป็นเกลียว มีขนาดใหญ่เท่าเชือกมนิลา ใช้ผ้าเย็บหุ้มอีกชั้นหนึ่ง ปล่อยปลายทั้งสองยื่นออก ส่วนเครื่องแต่งกายนั้นขึ้นอยู่กับความนิยม สมัยโบราณแต่งกายอย่างทหาร หรือนุ่งโจงกระเบนแบบหยักรั้ง คาดผ้าประเจียด ตะกรุด หรือนุ่งกางเกงขาสั้น การแสดงก็จะเริ่มจากการจับอาวุธต่อสู้กันเป็นคู่ๆ เช่น กระบี่กับกระบี่ พลองกับพลอง ง้าวกับง้าว พลองกับไม้สั้น จากนั้นก็สุดแต่จะยักเยื้องใช้อาวุธต่างๆ ในที่สุดก็เป็นการตะลุมบอนหรือหลายคู่ หรือการต่อสู้แบบ "สามบาน" คือ คนหนึ่งต่อสู้กับอีก ๒ คน เพลงที่ใช้นั้น เพื่อความเหมาะสมกับการร่ายรำอาวุธแต่ละอย่าง ก็มักจัดเพลงขึ้นตามความเหมาะสม เช่น กระบี่ ใช้เพลงกระบี่ลีลา ดาบสองมือ ใช้เพลงจำปาเทศหรือขอมทรงเครื่อง ง้าวใช้เพลงขึ้นม้า พลองใช้เพลงลงสรงหรือขึ้นพลับพลา การต่อสู้สามบาน ใช้เพลงกราวนอกหรือเพลงฝรั่งรำเท้า


หุ่นไทย
การแสดงอย่างหนึ่งของไทย ซึ่งมีมาแต่โบราณนั้น มีมหรสพอีกอย่างหนึ่งที่น่าสนใจ คือ หุ่น ประกอบด้วย "หุ่นใหญ่" และ "หุ่นกระบอก" ซึ่งเป็นการแสดงที่ใช้หุ่นแทนคน โดยคนที่เชิดหุ่นจะเป็นผู้สร้างสรรค์ความมีชีวิตชีวาให้กับหุ่น เพราะการแสดงนั้นใช้เรื่องที่แสดงเช่นเดียวกับละครหรือโขนนั่นเอง หุ่นรุ่นแรกๆ เรียกกันว่า "หุ่นหลวง" เพราะมีขนาดใหญ่ ต่อมามีการประดิษฐ์หุ่นอีกแบบหนึ่งเล็กว่าเดิม จึงเรียกของเดิมว่า "หุ่นใหญ่" และเรียกหุ่นที่ประดิษฐ์ใหม่ว่า "หุ่นเล็ก" ซึ่งต่อมาก็มีการประดิษฐ์หุ่นกระบอก และหุ่นละครเล็กขึ้นอีกด้วย
หุ่นหลวง หุ่นรุ่นเก่าเรียกกันตามขนาดว่า "หุ่นใหญ่" ซึ่งเป็นชื่อภายหลังที่เกิดหุ่นขนาดเล็ก ที่เรียกว่า "หุ่นหลวง" เพราะเป็นของเจ้านายหรือในวังหลวง หุ่นหลวงมีขนาดสูงราว ๑ เมตร มีลำตัว แขน ขา และแต่งตัวเช่นเดียวกับละคร ภายในตัวหุ่นทำสายโยงติดกับอวัยวะของตัวหุ่น และปล่อยเชือกลงมารวมกันที่แกนไม้ส่วนล่าง เพื่อใช้ดึงบังคับให้เคลื่อนไหวได้แม้กระทั่งลูกตา หุ่นรุ่นเก่าสุดมีปรากฏหลักฐานว่า อยู่ในรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย นอกจากนั้นยังเล่ากันสืบต่อมาว่า ทรงฝากฝีพระหัตถ์การทำหน้าหุ่นหลวงไว้คู่หนึ่ง เรียกกันว่า "พระยารักน้อย พระยารักใหญ่" หุ่นหลวงนั้นแสดงเรื่องต่างๆ เช่นเดียวกับละครในที่ให้นางในเป็นผู้แสดงทั้งตัวพระตัวนาง มีเรื่องรามเกียรติ์ เรื่องอุณรุทธ เป็นต้น ลีลาการแสดงก็ไม่แตกต่างจากละคร ในการเล่นหุ่นมีการขับร้องและการบรรเลงดนตรีประกอบ คือ มีวงปี่พาทย์อันประกอบด้วยระนาด ฆ้องวง เปิงมาง กลองใหญ่ กลองกลาง กลองเล็ก ฉิ่ง ฉาบ ตะโพน บางแห่งมีวงปี่พาทย์ถึง ๒ วง คนเจรจา ๔ คน หรือ ๕ คน ต่างคนต่างฟังต่างดูกัน จึงเข้าใจเรื่องราวและชักหุ่นออกท่าทางพร้อมการเจรจาไปด้วยกันได้ดี
หุ่นเล็ก เป็นหุ่นซึ่งประดิษฐ์ใหม่โดย กรมพระราชวังบวรวิไชยชาญ รัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระจุจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงประดิษฐ์ขึ้น ๒ ชนิด คือ หุ่นไทย กับ หุ่นจีน ขนาดของตัวหุ่นสูง ๑ ฟุต ซึ่งเล็กกว่าหุ่นหลวงมาก แต่มีความประณีตงดงามเช่นกัน หุ่นจีน เป็นตัวละครของเรื่องซวยงัก และเคยเล่นเรื่องหลวงจีนเจ้าชู้ มีลักษณะเป็นหุ่นมือ โดยมีลำคอใหญ่ เพื่อให้สามารถสอดนิ้วชี้เข้าไปภายในได้ หน้าหุ่นเขียนสีต่างๆ ตามลักษณะของหน้างิ้ว ครั้งที่สร้างหุ่นจีนนี้ขึ้น คงจะมีจำนวนมาก เพราะจะต้องใช้เป็นตัวละครต่างๆ พร้อมทั้งพวกพลทหารด้วย แต่ในปัจจุบันเหลืออยู่เพียงส่วนหนึ่งเท่านั้น คือ ๑๓๗ ตัว ยังรักษาอยู่ในพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ และคงเคยเล่นมาหลายเรื่อง รวมทั้งเรื่องสามก๊กด้วย สำหรับเรื่องหลวงจีนเจ้าชู้นี้ กรมพระราชวังบวรวิไชยชาญทรงพระราชนิพนธ์บทด้วยพระองค์เองเป็นภาษาไทย หุ่นไทย มีขนาดเท่าหุ่นจีน แต่แต่งเครื่องแบบไทย โดยมากเป็นตัวละครในเรื่องรามเกียรติ์ทั้งหมด ลักษณะของหุ่น เป็นสายใยชักได้ จีงมีทั้งศีรษะ แขน ขา สมบูรณ์ทุกอย่าง สายใยจะโยงไปตามอวัยวะต่างๆ และมีก้านไม้อยู่ตรงกันของตัวหุ่นเพื่อใช้มือถือเชิด และยังมีถุงคลุมก้านไม้นั้นไว้พร้อมทั้งสายใยด้วย หุ่นไทยเท่าที่จัดแสดงไว้ในพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติเพียง ๕๓ ตัว โรงหุ่นก็จะคล้ายโรงหุ่นใหญ่ มีวงปี่พาทย์ประกอบ
หุ่นละครเล็ก หรือเรียกว่า ละครเล็ก มีขนาดเล็กกว่าหุ่นหลวง เดิมเป็นของนายแกร ศัพทวานิช คณะหนึ่ง กับของนายเปียก ประเสริฐกุล อีกคณะหนึ่ง ละครเล็กของนายแกร มีมาตั้งแต่ก่อน พ.ศ. ๒๔๖๕ นิยมเล่นเรื่องพระอภัยมณีและเรื่องอื่นๆ บ้าง ปัจจุบันเหลืออยู่เพียง ๓๐ กว่าตัว และได้รับการรักษาไว้ที่เมืองโบราณ จังหวัดสมุทรปราการ ใช้คนเชิด ๓ คน เพราะใช้ส่วนขาเคลื่อนไหวด้วย โดยเฉพาะตัวยักษ์ พระ ลิง แต่ตัวนางใช้คนเชิด ๒ คน แสดงทั้งตัว โดยใช้ขาประกอบการร่ายรำด้วย จึงต้องมีกลไกสายใยมาก ทำให้สามารถขยับคอ นิ้วมือ และยกขาได้ แต่ก็ไม่แนบเนียนและซับซ้อนเท่าหุ่นหลวง ละครเล็กของนายเปียก เริ่มเล่นเมื่อ พ.ศ. ๒๔๕๗ เดิมนายเปียกมีโรงหุ่นกระบอกก่อน ต่อมาอีก ๑๕ ปี จึงได้คิดสร้างหุ่นละครเล็กขึ้น โดยอาศัยแบบอย่างของหุ่นกระบอก แต่ว่าตัวใหญ่กว่าหุ่นกระบอก จะมีแต่ลำตัว ศีรษะ แขน มือเท่านั้น ไม่มีขา ใช้คนเชิดคนเดียวและมีวิธีการเชิดเช่นเดียวกับหุ่นกระบอก
หุ่นกระบอก มีขึ้นในสมัยรัชกาลที่ ๕ โดยหม่อมราชวงศ์เถาะพยัคฆเสนา มีประวัติกล่าวไว้ว่า ได้แนวความคิดมาจากหุ่นของช่างแกะชื่อ เหน่ง ซึ่งทำเล่นอยู่ก่อนที่เมืองอุตรดิตถ์ และนายเหน่งก็ลอกแบบมาจากหุ่นไหหลำ แต่ประดิษฐ์ใหม่ให้เป็นแบบไทย กระบวนร้องในการเชิดหุ่นใช้ทำนอง สังขาราการเล่นหุ่นกระบอก ก็คล้ายละคร แต่ใช้หุ่นแทนคนจริง ผู้เชิดหุ่นจะต้องรู้วิธีบังคับตัวหุ่น โดยมือหนึ่งจับกระบอกไม้ไผ่ อีกมือหนึ่งจับไม้ที่ตรึงไว้กับข้อมือหุ่น เรียกว่า "ไม้ตะเกียบ" เวลาเชิด ผู้เชิดมักจะขยับตัวตามจังหวะดนตรีไปด้วย พร้อมกันนั้นก็บังคับหุ่นให้อ่อนไหวกล่อมตัวตามไปด้วย การทำท่าอ่อนช้อยเลียนแบบละครรำอย่างแนบเนียน ย่อมเกิดจากความสามารถของคนเชิดหุ่น ไม่ว่าจะกล่อมตัว กระทบตัว เชิดย้อนมือ โยกตัว และรำเพลง หุ่นกระบอกจะมีผ้าคลุมตัวลงมาจากช่วงไหล่ ยาวเลยปลายไม้กระบอกด้านล่าง ผู้เชิหุ่นจึงสามารถซ่อนมือไว้ภายในได้ การร้องและเจรจา ผู้เชิดหุ่นที่เป็นสตรีมักจะร้องและเจรจาด้วย นอกจากตัวตลกหรือตัวอื่นๆ มักใช้ผู้ชาย แต่การขับร้องดำเนินเรื่องแล้วจะใช้เสียงผู้หญิงทั้งหมด พร้อมกันนั้นลูกคู่ก็จะรับกันให้เสียงแน่นและเป็นช่วงๆ

หนังใหญ่
หนังใหญ่ เป็นมรสพที่ใหญ่และสำคัญ มีมาตั้งแต่ พ.ศ. ๒๐๐๑ ตามหลักฐานที่กล่าวไว้ ในกฎมฯเทียรบาลสมัยสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ และในเรื่องสมุทรโฆษชาดคำฉันท์ หนังใหญ่มีการเล่นตลอดมา จนสุดสิ้นสมัยอยุธยา ในพ.ศ. ๒๓๐๑ จึงยุติการเล่นหนังใหญ่ไปโดยปริยาย แต่เมื่อกรุงธนบุรีขึ้นมามีศักดิ์ศรีราชธานีใหม่ โดยสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช การเล่นหนังใหญ่ก็ฟื้นคืนชีพใหม่อีกครั้ง ซึ่งยังคงยืนยาวต่อมาจนถึงสมัยรัตนโกสินทร์ ดังนั้น มหรสพใดๆ ก็ไม่อาจเทียบหนังใหญ่ได้ เพราะเป็นมหรสพที่ค่อนข้างมโหฬาร คล้ายภาพยนตร์จอยักษ์ในสมัยปัจจุบัน หนังใหญ่มีขนาดโตกว่าหนังตะลุงเกือบ ๕ เท่า การทำหนังใหญ่นั้น ใช้แผ่นหนังวัวหรือหนังควายดิบ ที่ตากแห้งโดยวิธีขึงลงในกรอบให้ตึง แล้วเขียนภาพลงบนแผ่นหนัง จากนั้นจึงฉลุด้วยเครื่องมือ ตอกฉลุให้เป็นช่องหลุดขาดออกไป จะใช้เครื่องมืออย่างเดียวกับหนังตะลุงก็ได้ แต่ในปัจจุบันการทำตัวหนังใหญ่อาจน้อยลงหรือเกือบไม่มีใครทำกันแล้ว เพราะไม่ได้ทำขาย แต่ทำเพื่อใช้แสดงเท่านั้น ไม่เหมือนหนังตะลุงที่ทำขายเป็นของที่ระลึก
ลักษณะของหนังใหญ่ เมื่อฉลุแล้วจะเป็นภาพโปร่ง อาจเป็นแผ่นหนังที่มีภาพตัวเดียว เรียกว่า หนังเดี่ยว หรืเมีภาพกำลังต่อสู้กัน เรียกว่า หนังจับ มีการฉลุ ๒ แบบ คือ การฉลุเอาหนังออกเหลือแต่เส้นแสดงวงหน้า ตา คิ้ว ปาก หรือเส้นขอบแขน คอ เท่านั้น เรียกว่า "หน้าแขวะ" อีกแบบหนึ่งต้องฉลุเอาเส้นตา คิ้ว วงหน้า ขอบแขนออก เรียกว่า "หน้าเต็ม" จึงดูกลับกัน ลักษณะของภาพตัวหนังแยกออกได้ ดังนี้
๑. ตัวหนังที่มีภาพเดี่ยว หรือ หนังเดี่ยว เป็นภาพอยู่ในท่าเดิน ยืน ทำความเคารพ ท่าผาดแผลง มีชื่อต่างกันออกไป เช่น หนังคเนจร ได้แก่ หนังที่มีภาพในท่าเดิน หนังง่า ได้แก่ หนังที่มีภาพในท่าแผลงศร ท่าเหาะ หนังเฝ้า ได้แก่ หนังที่มีภาพในท่านอบน้อม ท่านั่งพนมมือ หรือกิริยาเข้าเฝ้า หนังเหล่านี้ใช้ประกอบในการดำเนินเรื่อง ๒. ตัวหนังที่มีภาพ ๒ ตัวขึ้นไป หรือ หนังเรื่อง อยู่ในแผ่นเดียวกัน เช่น หนังจับ ได้แก่ ภาพที่แสดงการต่อสู้กัน ซึ่งในทางจิตรกรรมไทยเรียกว่า ภาพจับ มีทั้ง ลิงรบยักษ์ มนุษย์รบยักษ์ หรือลิงขาวดำรบกัน หนังปราสาทโลม ได้แก่ หนังที่มีภาพโลม เช่น หนุมานโลมนางสุวรรณกันยุมา หนังเมือง ได้แก่ หนังที่มีภาพปราสาทราชวัง บ้านเรือน ศาลา ฯลฯ บางทีเรียกว่า หนังพิธี หนังพลับพลา หรือ หนังประสาทพูด ๓. ตัวหนังที่ไม่จำกัดว่าจะเป็นภาพอะไร เช่น คนถืออาวุธ ลิงพวกเดียวเพชร พลยักษ์ ตัวตลก ตัวหนีฉาก ภาพราชรถ ลิงเขน และเครื่องอาวุธ ฉัตร ช้าง ม้า ราชสีห์ ซึ่งรวมเรียกว่า หนังเบ็ดเตล็ด
ในการแสดงหนังใหญ่นั้น มีทั้งหนังสีและหนังดำ ซึ่งจะต้องระบายสีลงบนภาพหนังซึ่งเป็นหนังชนิดบาง โดยการขูดเยื่อใยต่างๆ ออกจนหมด การเชิดหนังใหญ่นั้น ผู้ที่เชิดจะเต้นและทำท่าทางไปตามจังหวะเพลงด้วย แต่ภาพที่ปรากฏบนจอจะไม่สะดุ้งตาม ส่วนมากจะเป็นผู้ชาย ไม่ว่าจะเชิดตัวพระ ตัวนางก็ตาม การฝึกหัดก็เช่นเดียวกับการฝึกหัดโขน โดยมีการเต้นเสา เพราะในการเชิดนั้น จะต้องยืด ยุบ กระทบเท้า ลงเหลี่ยม ขยั่นเท้า กระดกเท้า มือทั้งสองจะต้องชูตัวหนังขึ้นสูง ส่วนหนังตัวเล็กจะต้องจับไม้คาบอันเดียวทั้งสองมือ การเต้นก็เต้นตามจังหวะ มีการเก็บเท้า สะดุดเท้า ขยั่นเท้าสลับกัน ตัวหนังพระก็ทำท่าอย่างพระ ตัวหนังนางก็ทำท่าอย่างนาง ตัวหนังยักษ์ก็ทำท่าอย่างยักษ์ ตัวหนังลิงก็ทำท่าอย่างลิง ซึ่งแต่ละประเภทจะมีท่าเฉพาะของตัวเอง การพากย์ก็จะต้องเข้าใจกันดีระหว่างผู้เชิดกับผู้พากย์ ตอนใดขึงขัง ตอนใดอ่อนโยน หรือตอนใดนอบน้อมโดยเฉพาะหนังเฝ้า ซึ่งตัวหนังนั่งพนมมือ ก็จะต้องโน้มไปข้างหน้าเล็กน้อยเชิงก้มศีระษะรับคำสั่งหรือราชโองการ ความสัมพันธ์กันระหว่างผู้เชิดหนัง กับผู้พากย์ก็เช่นเดียวกับการแสดงโขน โดยที่ตัวโขนก็จะต้องเข้าใจเรื่องแต่ละตอน คนพากย์ก็จะต้องเข้าใจลีลาการรำ และการทำท่าทางที่เรียกว่า "ภาษาท่า" ดนตรีที่ใช้ในการเล่นหนังใหญ่ ใช้วงปี่พาทย์ แต่จะเป็นวงขนาดใดแล้วแต่ฐานะเจ้าภาพ วงปี่พาทย์จะตั้งอยู่หน้าจอหนัง เว้นระยะห่างจากจอราว ๔ เมตร เพื่อให้คนเชิหนังเต้นได้สะดวก เพราะการเชิดหนังใหญ่นั้น เชิดหน้าจอและหลังจอด้วย ไม่เหมือนหนังตะลุงที่เชิดหลังจอตลอด

ระบำ รำ ฟ้อน
นาฏศิลป์ เป็นการรวมความเป็นเลิศของศิลปะแขนงต่าง ๆ วิวัฒนาการมาพร้อมกับความเจริญของมนุษย์ โดยอาศัยพลังและเจตนา เป็นเครื่องผลักดันให้จิตกระตุ้นร่างกายให้แสดงการเคลื่อนไหว มีจังหวะ มีแบบแผน เพื่อให้เกิดความสุข ความเข้าใจ และความงดงามแก่ตนเองและผู้อื่น นาฏศิลป์ไทย เป็นศิลปวัฒนธรรมประจำชาติแต่โบราณ เป็นศิลปะชั้นสูง แยกประเภทการแสดงออกเป็นหลายแบบ ใช้ภาษาท่าเหมือนกัน แต่แยกลักษณะและประเภทการแสดงแตกต่างกัน ขอบข่ายของนาฏศิลป์ไทย จำแนกเป็นประเภทต่างๆ ได้แก่ โขน หนัง หุ่น ละครรำ ละครรำ ละครร้อง ละครสังคีต ละครพูด การละเล่นของหลวง การเล่นเบิกโรง การละเล่นพื้นเมือง นาฏศิลป์ไทยประเภทต่างๆ ดังกล่าวมานี้ เรียกกันโดยทั่วไปว่า "มหรสพ" ซึ่งหมายถึงการเล่นรื่นเริง มีโขน ละคร หรือสิ่งที่คล้ายคลึงกัน ปัจจุบันมหรสพมีความหมายกว้างขวาง รวมไปถึงการเล่นรื่นเริงทุกชนิด มีระบำ รำ ฟ้อน เป็นต้น
ระบำ คือ ศิลปะของการร่ายรำที่แสดงพร้อมกันเป็นหมู่เป็นชุด ความงามของการแสดงระบำ อยู่ที่ความสอดประสานกลมกลืนกัน ด้วยความพร้อมเพรียงกัน การแสดงมีทั้งเนื้อร้องและไม่มีเนื้อร้อง ใช้เพียงดนตรีประกอบ คำว่า "ระบำ" รวมเอา "ฟ้อน" และ "เซิ้ง" เข้าไว้ด้วยกัน เพราะวิธีการแสดงไปในรูปเดียวกัน แตกต่างกันที่วิธีร่ายรำ และการแต่งกายตามระเบียบประเพณีตามท้องถิ่น
ระบำ แบ่งออกเป็น ๒ ชนิด คือ ระบำดั้งเดิมหรือระบำมาตรฐาน และระบำปรับปรุงหรือระบำเบ็ดเตล็ด ๑. ระบำดั้งเดิมหรือระบำมาตรฐาน หมายถึง การแสดงที่ปรมาจารย์ได้กำหนดเนื้อร้อง ทำนองเพลง ลีลาท่ารำและการแต่งกาย ตลอดถึงกระบวนการแสดงไว้อย่างแน่นอนตายตัว และได้สั่งสอน ฝึกหัด ถ่ายทอด ต่อๆ กันมาเป็นเวลานาน จนนับถือเป็นแบบฉบับ จัดเป็นระบำมาตรฐาน เป็นแม่บทที่ควรธำรงรักษาไว้ ซึ่งใครจะเปลี่ยนแปลงลีลาท่ารำไม่ได้ เช่น ระบำดาวดึงส์ ระบำกฤดาภินิหาร ระบำเทพบันเทิง ระบำโบราณคดี
๒. ระบำปรับปรุงหรือระบำเบ็ดเตล็ด หมายถึง การแสดงที่ประดิษฐ์ขึ้นใหม่ตามประสงค์ ตามเหตุการณ์ ตามสมัยนิยม และตามเนื้อเรื่องที่ผู้ประพันธ์ต้องการ ระบำปรับปรุงแยกออกเป็น
- ปรับปรุงจากแบบมาตรฐาน หมายถึง ระบำที่คิดประดิษฐ์ขึ้นโดยยึดแบบและลีลา ตลอดจนความสวยงามในด้านระบำไว้ ท่าทางลีลาที่สำคัญยังคงไว้ อาจมีการเปลี่ยนแปลงบางสิ่งบางอย่างเพื่อให้ดูงามขึ้นอีก หรือเปลี่ยนแปลงเพื่อความเหมาะสมกับสถานที่ที่นำไปแสดง เช่น การจัดรูปแถว การนำเพลงหน้าพาทย์ชั้นสูงเข้าไปสอดแทรก เป็นต้น
- ปรับปรุงจากพื้นบ้าน หมายถึง ระบำที่คิดประดิษฐ์สร้างสรรค์ขึ้นจากแนวทางความเป็นอยู่ของคนพื้นบ้าน การทำมาหากิน อุตสาหกรรม ขนบธรรมเนียมประเพณี ในแต่ละท้องถิ่นมาแสดงออกเป็นรูประบำ เพื่อเป็นเอกลักษณ์ประจำท้องถิ่น เช่น เซิ้งบั้งไฟ เต้นกำรำเคียว ระบำงอบ ระบำกะลา รองเง็ง ฯลฯ
- ปรับปรุงจากท่าทางของสัตว์ หมายถึง ระบำที่คิดประดิษฐ์ขึ้นใหม่ ตามลักษณะลีลาท่าทางของสัตว์ชนิดต่าง ๆ เช่น ระบำนกยูง ระบำนกเขา ระบำมฤครำเริง ระบำบันเทิงกาสร ระบำตั๊กแตน เป็นต้น
- ปรับปรุงจากตามเหตุการณ์ หมายถึง ระบำที่คิดประดิษฐ์ขึ้นใช้ตามโอกาสที่เหมาะสม เช่น ระบำพระประทีป ระบำโคมไฟ ระบำที่ประดิษฐ์ขึ้นรำในวันนักขัตฤกษ์ ลอยกระทงในเดือนสิบสอง ระบำที่ประดิษฐ์ขึ้นเพื่อการต้อนรับ เพื่อแสดงความยินดี อวยพรวันเกิด เป็นต้น
- ปรับปรุงจากสื่อการสอน เป็นระบำประดิษฐ์และสร้างสรรค์ขึ้น เพื่อเป็นแนวทางสื่อนำสู่บทเรียน เหมาะสำหรับเด็ก ๆ เป็นระบำง่าย ๆ เพื่อเร้าความสนใจ ประกอบบทเรียนต่าง ๆ เช่น ระบำสูตรคูณ ระบำวรรณยุกต์ ระบำประเภทปรับปรุงขึ้นใหม่นี้ ลักษณะท่ารำจะไม่ตายตัว จะมีการเปลี่ยนแปลงไปตลอดเวลา ขึ้นอยู่กับเหตุการณ์ ตัวบุคคล ตลอดจนฝีมือและความสามารถของผู้สอนและตัวนักเรียนเอง
รำ หมายถึง การแสดงที่มุ่งความงามของการร่ายรำ เป็นการแสดงท่าทางลีลาของผู้รำ โดยใช้มือแขนเป็นหลัก
ประเภทของการรำ ได้แก่ การรำเดี่ยว การรำคู่ การรำหมู่๑. การรำเดี่ยว คือ การรำที่ใช้ผู้แสดงเพียงคนเดียว จุดมุ่งหมายคือ ๑.๑ ต้องการอวดฝีมือในการรำ ๑.๒ ต้องการแสดงศิลปะร่ายรำ ๑.๓ ต้องการสลับฉากเพื่อรอการจัดฉาก หรือตัวละครแต่งกายยังไม่เสร็จเรียบร้อย การรำเดี่ยว เช่น การรำฉุยฉายต่าง ๆ รำมโนราห์บูชายัญ รำพลายชุมพล ฯลฯ
๒. การรำคู่ แบ่งเป็น ๒ ประเภท คือ รำคู่ในเชิงศิลปะการต่อสู้ ไม่มีบทร้อง และรำคู่ในชุดสวยงาม ๒.๑ การรำคู่ในเชิงศิลปะการต่อสู้ ได้แก่ กระบี่ กระบอง ดาบสองมือ โล่ ดาบ เขน ดั้ง ทวน และรำกริช เป็นการรำไม่มีบทร้อง ใช้สลับฉากในการแสดง ๒.๒ การรำคู่ในชุดสวยงาม ท่ารำในการรำจะต้องประดิษฐ์ให้สวยงาม ทั้งท่ารำที่มีคำร้องตลอดชุด หรือมีบางช่วงเพื่ออวดลีลาท่ารำ มีบทร้องและใช้ท่าทางแสดงความหมายในตอนนั้น ๆ ได้แก่ หนุมานจับสุพรรณมัจฉา หนุมานจับนางเบญกาย พระรามตามกวาง พระลอตามไก่ รามสูร เมขลา รจนาเสี่ยงพวงมาลัย ทุษยันต์ตามกวาง รำแม่บท รำประเลง รำดอกไม้เงินทอง รถเสนจับม้า
๓. การรำหมู่ เป็นการแสดงมากกว่า ๒ คนขึ้นไป ได้แก่ รำโคม ญวนรำกระถาง รำพัด รำวงมาตรฐาน และรำวงทั่วไป การแสดงพื้นเมืองของชาวบ้าน เช่น เต้นกำรำเคียว รำกลองยาว
ฟ้อน หมายถึง ศิลปะการแสดงที่เป็นประเพณีของทางภาคเหนือ จะใช้ผู้แสดงเป็นจำนวนมาก มีลีลาการฟ้อนพร้อมเพรียงกันด้วยจังหวะที่ค่อนข้างช้า การพิจารณาศิลปะการฟ้อนที่ปรากฏในลานนาปัจจุบัน อาจารย์ทรงศักดิ์ ปรางค์วัฒนากุล ได้แบ่งการฟ้อนออกเป็น ๕ ประเภท คือ๑. ฟ้อนที่สืบเนื่องมาจาการนับถือผี เกี่ยวเนื่องกับความเชื่อและพิธีกรรม เป็นการฟ้อนเก่าแก่ที่มีมาช้านาน ได้แก่ ฟ้อนผีมด ผีเม็ง ฟ้อนผีบ้านผีเมือง ฟ้อนผีนางดัง๒. ฟ้อนแบบเมือง หมายถึง ศิลปะการฟ้อนที่มีลีลาแสดงลักษณะเป็นแบบฉบับของ "คนเมือง" หรือ "ชาวไทยยวน" ได้แก่ ฟ้อนเล็บ ฟ้อนเทียน ฟ้อนเจิง ตบมะผาบ ฟ้อนดาบ ตีกลองสะบัดไชย ฟ้อนสาวไหม๓. ฟ้อนแบบม่าน เป็นการผสมผสานกันระหว่างศิลปะการฟ้อนของพม่า กับของไทยลานนา ได้แก่ ฟ้อนม่านมุ่ยเชียงตา๔. ฟ้อนแบบเงี้ยวหรือแบบไทยใหญ่ หมายถึง การฟ้อนตลอดจนการแสดงที่รับอิทธิพล หรือมีต้นเค้ามาจากศิลปะการแสดงของชาวไทยใหญ่ ได้แก่ เล่นโต กิ่งกะหร่า(กินนรา) หรือฟ้อนนางนก กำเบ้อคง มองเซิง ฟ้อนไต(ไทยใหญ่) ฟ้อนเงี้ยว๕. ฟ้อนที่ปรากฏในบทละคร เป็นการฟ้อนที่มีผู้คิดสร้างสรรขึ้นในการแสดงละครพันทาง ซึ่งนิยมในสมัยรัชกาลที่ ๕ ได้แก่ ฟ้อนน้อยใจยา ฟ้อนลาวแพน ฟ้อนม่านมงคล


ความสำคัญของการฟ้อนรำไทย
การฟ้อนรำของไทย มีลักษณะเฉพาะตัว และมีความเป็นไทยในตัวเองเป็นอย่างยิ่ง เป็นศิลปะประจำชาติ ไม่ซ้ำหรือเหมือนของชาติอื่น นับว่าเป็นสมบัติอันเป็นวัฒนธรรมของชาติที่น่าภูมิใจยิ่ง
ลักษณะของความเป็นไทย ได้แก่
๑. ท่ารำอันอ่อนช้อยงดงาม และแสดงอารมณ์ตามลักษณะที่แท้จริงของคนไทย มีความหมายอย่างกว้างขวาง
๒. มีดนตรีประกอบ ดนตรีนี้จะแทรกอารมณ์ หรือรำกับเพลงที่มีแต่ทำนองก็ได้ หรือมีเนื้อร้องและให้ท่ารำไปตามเนื้อร้องนั้น ๆ
๓. คำร้องหรือเนื้อร้องที่ใช้จะต้องเป็นคำประพันธ์ ส่วนบทจะเป็นกลอนแปด ซึ่งจะนำไปร้องกับเพลงชั้นเดียว หรือเพลง ๒ ชั้นได้ทุกเพลง ทำให้กำหนดท่ารำไปตามเนื้อร้องได้
๔. เครื่องแต่งกายละครไทย จะแตกต่างกับเครื่องแต่งกายละครของชาติอื่น มีแบบอย่างของตนโดยเฉพาะ ขนาดยืดหยุ่นได้ตามสมควร เครื่องแต่งกายบางประเภท เช่น เครื่องแต่งกายยืนเครื่อง การสวมจะใช้วิธีตรึงด้วยด้าย แทนทีจะเย็บสำเร็จรูป


คุณค่าจากการรำไทย
๑. เพื่อการสื่อสาร นาฏศิลป์ได้พัฒนาจากรูปลักษณ์ที่ง่าย และเป็นส่วนประกอบของคำพูดหรือวรรณศิลป์ ไปสู่การสร้างภาษาของตนเองขึ้นที่เรียกว่า "ภาษาท่ารำ" โดยกำหนดกันในกลุ่มชนที่ใช้นาฏศิลป์นั้นๆ ว่าท่าใดมีความหมายอย่างไร
๒. เพื่องานพิธีกรรมต่างๆ ได้แก่ การฟ้อนรำเพื่อบูชาหรือบวงสรวงสิ่งศักดิ์สิทธิ์ การรำแก้บน การฟ้อนรำอีกลักษณะหนึ่งเป็นการฟ้อนรำบูชาครู ไม่ได้แก้บนใด ๆ แต่เป็นการฟ้อนบูชาครู หรือเป็นพุทธบูชา เช่น การรำถวายมือในพิธีไหว้ครูนาฏศิลป์ไทย
๓. เพื่องานพิธีการต่างๆ ได้แก่ พิธีการต้อนรับแขกเมืองสำคัญ พิธีแห่เทวรูปที่เคารพประจำปี เพื่อเป็นสิริมงคล พิธีฉลองงานสำคัญ เช่น งานวันเกิด งานวันครบรอบ
๔. เพื่อความบันเทิงและการสังสรรค์ นาฏศิลป์ให้ความบันเทิงแก่ผู้มาร่วมงานต่างๆ เช่น การรำอวยพรในวันเกิด ในงานรื่นเริงต่างๆ
๕. เพื่อการออกกำลังกายและพัฒนาบุคลิกภาพ การฝึกหัดรำไทยต้องอาศัยกำลังในการฝึกซ้อมและ ในการแสดงอย่างมาก เหมือนกับได้ออกกำลังกายอยู่ตลอดเวลา เป็นการกระตุ้นหรือบำบัดส่วนใดส่วนหนึ่งของร่างกาย ทำให้กระฉับกระเฉง ไม่เครียด เป็นการสร้างเสริมบุคคลิกภาพและมีการทรงตัวที่สง่างามด้วย
๖. เพื่อการอนุรักษ์และเผยแพร่ นาฏศิลป์เป็นเอกลักษณ์อย่างหนึ่งของชุมชน ในชุมชนหนึ่งๆ มักมีการสืบทอด และอนุรักษ์วัฒนธรรมทางนาฎศิลป์ของตนเอาไว้มิให้สูญหาย มีการสอนมีการแสดง และเผยแพร่นาฏศิลป์ไทยให้ท้องถิ่นอื่น หรือนำไปเผยแพร่ในต่างแดน


หลักในการชมนาฏศิลป์
๑. ควรศึกษาเกี่ยวกับท่ารำ "ท่ารำ" ของนาฏศิลป์ไทยจัดได้ว่าเป็น "ภาษา" ชนิดหนึ่ง ซึ่งใช้สื่อความหมายให้ผู้ชมเข้าใจถึงกิริยา อาการ และความรู้สึก ตลอดจนอารมณ์ของผู้แสดง มีทั้งท่ารำตามธรรมชาติและท่าที่ประดิษฐ์ให้วิจิตรสวยงามกว่าธรรมชาติ ผู้ชมที่ดีจะต้องเรียนรู้ความหมายและลีลาท่ารำต่างๆ ของนาฏศิลป์ไทย ให้เช้าใจเป็นพื้นฐานก่อน
๒. เข้าใจเกี่ยวกับภาษาหรือคำร้องของเพลงต่างๆ การแสดงนาฏศิลป์จะต้องใช้ดนตรีและเพลงเข้าประกอบ ซึ่งอาจจะมีทั้งเพลงขับร้องและเพลงบรรเลง ในเรื่องเพลงร้องนั้นจะต้องมี "คำร้อง" หรือ เนื้อร้อง ประกอบด้วย บทร้องเพลงไทยส่วนมากจะเป็นคำประพันธ์ประเภทกลอนแปด หรือกลอนสุภาพ เป็นคำร้องที่แต่งขึ้นใช้กับเพลงนั้นๆ โดยเฉพาะ หรือนำมาจากวรรณคดีไทยตอนใดตอนหนึ่งก็ได้ ผู้ชมจะต้องฟังภาษาที่ใช้ร้อง ให้เข้าใจควบคู่กับการชมการแสดงด้วย จึงจะเข้าใจถึงเรื่องราวนาฏศิลป์ที่แสดงอยู่
๓. มีความเข้าใจเกี่ยวกับดนตรีและเพลงต่างๆ นาฏศิลป์จำเป็นต้องมีดนตรีบรรเลงประกอบขณะแสดง ซึ่งอาจจะเป็นแบบพื้นเมืองหรือแบบสมัยนิยม ผู้ชมจะต้องฟังเพลงให้เข้าใจทั้งลีลา ทำนอง สำเนียงของเพลง ตลอดจนจังหวะอารมณ์ด้วย จึงจะชมนาฏศิลป์ได้เข้าใจและได้รสของการแสดงอย่างสมบูรณ์ เช่น เข้าใจว่าเพลงสำเนียงมอญ พม่า ลาว ฯลฯ สามารถเข้าใจถึงประเพทของเพลงและอารมณ์ของเพลงแต่ละเพลง นอกจากนี้ จะต้องรู้จักถึงชื่อของเครื่อง ดนตรีและวงดนตรีที่ใช้ประกอบการแสดงทุกชนิดด้วย
๔. เข้าใจเกี่ยวกับการแต่งกายและแต่งหน้าของผู้แสดง การแสดงนั้นแบ่งออกหลายแบบ หลายประเภท ผู้ชมควรดูให้เข้าใจว่าการแต่งกายเหมาะสมกับบรรยากาศและประเภทของการแสดงหรือไม่ เสื้อผ้า เครื่องประดับ และอุปกรณ์ต่างๆ ที่ใช้ในการแสดง ตลอดทั้งการแต่งหน้าด้วยว่าเหมาะสมกลมกลืนกันเพียงใด เช่น เหมาะสมกับฐานะหรือบทของผู้แสดงหรือไม่
๕. เข้าใจถึงการออกแบบฉากและการใช้แสงและเสียง ผู้ชมที่ดีต้องมีความรู้ ความเข้าใจเรื่องฉาก สถานที่ และสถานการณ์ต่างๆ ของการแสดง คือต้องดูให้เข้าใจว่าเหมาะสมกับการแสดงหรือไม่ บรรยากาศ แสง หรือเสียงที่ใช้นั้นเหมาะสมกับลักษณะของการแสดงเพียงใด
๖. เข้าใจเกี่ยวกับบทบาทและฐานะของตัวแสดง คือ การแสดงที่เป็นเรื่องราว มีตัวแสดงหลายบท ซึ่งจะต้องแบ่งออกตามฐานะในเรื่องนั้นๆ เช่น พระเอก นางเอก ตัวเอก ตัวนายโรง พระรอง นางรอง ตัวตลก ฯลฯ
๗. เข้าใจเกี่ยวกับเรื่องราวของการแสดง ในกรณีที่เล่นเป็นเรื่องราว เช่น โขน ละคร ผู้ชมต้องติดตามการแสดงให้ต่อเนื่องกัน ึงจะเข้าใจถึงเรื่องราวต่างๆ ว่าใคร ทำอะไร ที่ไหน อย่างไร
๘. ควรมีอารมณ์ร่วมกับการแสดง การแสดงนาฏศิลป์ได้บรรจุเอาลีลาท่าทาง หรืออารมณ์ต่างๆ ของผู้แสดงไว้มากมาย ผู้ชมที่ดีควรมีส่วนร่วมกับผู้แสดงด้วย เช่น สนุกสนาน เฮฮาไปด้วย จะทำให้ได้รสของการแสดงอย่างเต็มที่ และผู้แสดงจะสนุกสนาน มีอารมณ์และกำลังใจในการแสดงด้วย
๙. ควรมีมารยาทในการชมการแสดง คือ ปรบมือให้เกียรติก่อนแสดงและหลังจาจบการแสดงแต่ละชุด ไม่ควรส่งเสียงโห่ร้องเป็นการล้อเลียน หรือเยาะเย้ย ในขณะที่การแสดงนั้นไม่ถูกใจหรืออาจจะผิดพลาด ตลก ขบขัน ซึ่งจะทำให้ผู้แสดงเสียกำลังใจ และถือว่าไม่มีมารยาทในการชมการแสดงอย่างมาก อีกทั้งเป็นการรบกวนสมาธิและอารมณ์ของผู้ชมคนอื่นๆ ด้วย
๑๐. ควรแต่งกายสุภาพเรียบร้อย คือ ต้องให้เหมาะสมกับสถานที่ที่ใช้แสดง เช่นโรงละครแห่งชาติ หอประชุมขนาดใหญ่ ควรแต่งกายสุภาพแบบสากลนิยม แต่ในกรณีสถานที่สาธารณะหรืองานแบบสวนสนุก ก็อนุโลมแต่งกายตามสบายได้
๑๑. ควรศึกษาเกี่ยวกับสูจิบัตร ให้เข้าใจก่อนเริ่มชมการแสดง เพื่อจะได้ชมการแสดงได้เข้าใจตั้งแต่ต้นจนจบ แต่ถ้าไม่มีสูจิบัตร ก็ควรจะตั้งใจฟังพิธีการบรรยายถึงเรื่องราวต่างๆ ที่เกี่ยวกับการแสดงให้เข้าใจด้วย
๑๒. ควรไปถึงสถานที่แสดงก่อนเวลา เพื่อจะได้เตรียมตัวให้พร้อม และได้ชมการแสดงตั้งแต่เริ่มต้น อีกทั้งจะได้ไม่เดินผ่านผู้อื่นซึ่งชมการแสดงอยู่ก่อนแล้ว จะทำให้เกิดความวุ่นวายเป็นการทำลายสมาธิด้วย


2 ความคิดเห็น:

lek กล่าวว่า...

สวยดีนะชุดไทย

Kimkung กล่าวว่า...

เเล้ว ที่มา ของนาฎศิลป์ ทำไมไม่มี การเเสดงที่เป็นเเบบเเผน